คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 583/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซื้อสินค้าเชื่อจากโจทก์ในใบนำส่งสินค้าแต่ละคราวมีข้อความระบุว่าให้ผู้ซื้อชำระราคาภายใน 30 วัน และโจทก์จำเลยมีข้อตกลงกันว่าถ้าสินค้าชำรุดยอมให้จำเลยส่งคืนได้ โจทก์จะคิดชดเชยราคาให้ตามส่วนและสภาพของสินค้าโดยโจทก์จะออกใบเครดิตโน้ตให้จำเลย แสดงยอดเงินที่โจทก์คิดชดเชยให้ และโจทก์จะนำยอดเงินในเครดิตโน้ทนั้นไปหักออกจากราคาสินค้าที่จำเลยเป็นหนี้อยู่ดังนี้

สิทธิเรียกร้องในราคาสินค้าของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นนับจากวันถึงกำหนดชำระตามใบนำส่งสินค้า มิใช่นับจากวันที่หักราคาสินค้ากับเครดิตโน้ทเมื่อนับจากวันถึงกำหนดชำระตามใบนำส่งสินค้าทุกฉบับจนถึงวันฟ้องเกินกว่า 2 ปี แล้วคดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1)
ข้อตกลงเรื่องคืนสินค้าดังกล่าวเป็นการตกลงกันในเรื่องคุณภาพของสินค้า จำเลยจะใช้สิทธิคืนสินค้าหรือไม่ย่อมแล้วแต่ฝ่ายจำเลยจะเลือกปฏิบัติใบเครดิตโน้ทที่โจทก์ออกให้เมื่อจำเลยส่งสินค้าชำรุดคืนก็เป็นเพียงหลักฐานที่โจทก์ยินยอมชดเชยราคาให้แก่ฝ่ายจำเลยเองและเป็นหลักฐานที่โจทก์ฝ่ายเดียวทำขึ้นการที่จำเลยส่งสินค้าคืนเพื่อเรียกค่าชดเชยจากโจทก์จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างเดือนมีนาคม 2512 ถึงเดือนกรกฎาคม 2512จำเลยได้ซื้อเชื่อยางดันล้อปไปจากบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพ) จำกัด หลายคราว โดยมีข้อตกลงกันว่าหากยางรถยนต์ที่จำเลยซื้อไปแตกหรือชำรุดเสียหาย อันมิใช่เนื่องจากสึกหรอโดยการใช้อย่างปกติแล้ว บริษัททั้งสองจะคิดชดเชยราคาให้แก่จำเลยตามส่วนคิดจากสภาพของยางนั้น ๆ ในเมื่อจำเลยได้ส่งยางนั้นคืนภายในเวลาไม่เกิน 2 ปี ทางบริษัททั้งสองเมื่อรับยางที่ชำรุดไว้แล้วจะออกใบเครดิตโน้ท แสดงยอดเงินที่คิดชดเชยให้จำเลย และนำยอดเงินไปหักกับยอดเงินที่จำเลยเป็นหนี้อยู่ การซื้อยางเชื่อไปจากบริษัททั้งสองนั้น บริษัททั้งสองจะส่งยางไปให้จำเลย ณ ที่สำนักงานของจำเลย พนักงานของจำเลยเป็นผู้ลงชื่อรับสินค้าไว้ในนำส่งสินค้ารวม 20 ฉบับ มี 8 ฉบับที่เจ้าพนักงานของจำเลยมิได้ลงชื่อไว้ แต่ได้ลงชื่อในใบรับสินค้าต่างหากเป็นหลักฐาน เมื่อโจทก์ได้จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทจำกัดในประเทศไทยแล้ว บริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพ) จำกัด ได้โอนกิจการจำหน่ายยางรถและผลิตภัณฑ์ยี่ห้อดันล้อปมาให้บริษัทโจทก์ดำเนินกิจการต่อไป และได้โอนสิทธิเรียกร้องในหนี้สินทั้งหมดที่บริษัททั้งสองมีอยู่กับจำเลย และลูกหนี้อื่น ๆ มาให้โจทก์เป็นผู้รับโอนเพื่อดำเนินการติดต่อและเรียกร้องต่อไป เมื่อคิดยอดหนี้ถึงวันที่ 22 เมษายน 2513 อันเป็นวันสุดท้าย คิดหักค่ายางที่จำเลยเรียกชดเชยแล้ว จำเลยยังค้างชำระหนี้โจทก์อยู่ทั้งสิ้น 40,140 บาท ขอบังคับให้จำเลยใช้เงิน 40,140 บาทกับดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง 2,007 บาท รวมเป็นเงิน 42,147 บาท ให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีในเงินจำนวน 40,140 บาทนับต่อจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จให้โจทก์

จำเลยให้การว่า จำเลยได้ซื้อยางดันล้อปไปจากบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพฯ) จำกัด หลายครั้งแต่บริษัทไม่เคยตกลงกับจำเลยว่าบริษัทจะชดเชยราคาให้แก่จำเลยตามสภาพของยางที่แตกหรือชำรุดเสียหาย ซึ่งมิใช่เนื่องแต่การใช้ หากแต่บริษัททั้งสองได้ลดราคาพิเศษเพื่อเอาใจลูกค้าเท่านั้น ใบนำส่งสินค้าท้ายฟ้องหมาย 3, 5, 6, 7, 11, 13,15 และ 20 พนักงานของจำเลยมิได้ลงชื่อไว้ จำเลยปฏิเสธว่าไม่ได้รับสินค้าดังกล่าวไว้คิดเป็นเงิน 12,534 บาท เอกสารหมาย 22, 23 เป็นเรื่องที่บริษัททั้งสองลดราคาพิเศษให้จำเลยเอง เอกสารท้ายฟ้องหมาย 26 ถึง 32 โจทก์ทำขึ้นเองมิใช่เป็นเครดิตโน้ทเพื่อชดเชยค่ายางให้จำเลย เอกสารหมาย 33 มิใช่รายการหนี้สินดังโจทก์กล่าวอ้าง จำเลยไม่เคยรับหนังสือทวงถามหนี้ โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ย หนี้ตามฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้ว ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มิได้ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ภายในกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์จึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) จำเลยไม่ต้องรับผิดในมูลหนี้ตามที่โจทก์ฟ้องประเด็นข้ออื่นจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 2 ปี แต่โจทก์ฟ้องเมื่อเลยกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์จำเลยแล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยได้ซื้อยางดันล้อปจากบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพฯ) จำกัด มานานประมาณ 10 ปีเศษแล้ว เมื่อจำเลยสั่งซื้อยางจากบริษัททั้งสอง บริษัทผู้ขายจะให้เจ้าหน้าที่นำสินค้ามาส่งให้ ณที่ทำการของจำเลย โดยมีใบนำส่งสินค้ากำกับมาด้วยทุกครั้ง เมื่อส่งให้ผู้รับถูกต้องแล้ว ผู้รับสินค้าจะต้องลงชื่อไว้เป็นหลักฐานในใบส่งสินค้านี้จะมีวัน เดือน ปีที่นำส่งรายการสินค้าและราคาบอกไว้เสร็จ หลังจากบริษัทโจทก์ได้ก่อตั้งและจดทะเบียนในประเทศไทยแล้ว ได้รับโอนกิจการค้าขายยางดันล้อป พร้อมทั้งสิทธิเรียกร้องหนี้สินต่าง ๆ ที่บรรดาลูกหนี้มีอยู่กับบริษัททั้งสองมาเป็นของบริษัทโจทก์ ตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2513 ในระหว่างเดือนมีนาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2512 จำเลยสั่งซื้อเชื่อยางรถจากบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพฯ) จำกัด หลายครั้ง กำหนดชำระราคาภายใน 30 วัน โดยมีข้อตกลงกันว่า ถ้ายางรถที่ซื้อไปนั้นเสียหายหรือชำรุดอันมิใช่เกิดจากการสึกหรอเนื่องจากการใช้อย่างปกติแล้ว บริษัททั้งสองจะคิดชดเชยราคาให้แก่จำเลยตามส่วนและสภาพของยางนั้น ๆ ในเมื่อจำเลยได้ส่งยางนั้นคืนให้แก่บริษัททั้งสองในเวลาไม่เกิน 2 ปีนับแต่วันที่ซื้อไป เงินที่จำเลยได้รับชดเชยนี้บริษัททั้งสองจะนำมาหักกับราคายางที่จำเลยซื้อ ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่

ปัญหาดังกล่าว โจทก์นำสืบว่า ระหว่างเดือนมีนาคม 2512 ถึงเดือนกรกฎาคม 2512 จำเลยซื้อเชื่อยางไปจากบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัดและบริษัทแองโกลไทย (กรุงเทพฯ) จำกัด ปรากฏตามใบนำส่งสินค้ารวม 20ฉบับ โดยในระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน 2512 จำเลยได้ส่งคืนยางให้แก่บริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด เพื่อเรียกค่าชดเชยรวม 2 คราว และระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2513 จำเลยส่งคืนยางให้บริษัทโจทก์อันเป็นยางที่จำเลยซื้อไปจากบริษัททั้งสองเพื่อเรียกค่าชดเชยจากโจทก์รวม7 คราว ซึ่งบริษัทแองโกลไทยคอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัทโจทก์ได้ออกใบเครดิตโน้ทให้จำเลย คิดหักแล้วจำเลยยังคงค้างชำระหนี้โจทก์อยู่อีกเป็นเงินทั้งสิ้น 40,140 บาท โดยโจทก์ได้แจ้งยอดหนี้ให้จำเลยทราบ และกำหนดให้จำเลยชำระเสร็จภายใน 7 วัน ครบกำหนดแล้วจำเลยไม่ชำระเช่นนี้จะเห็นได้ว่าการที่จำเลยซื้อเชื่อยางรถไปจากบริษัทผู้ขายตามใบนำส่งสินค้าทั้ง 20 ฉบับดังกล่าวแล้ว เป็นการซื้อเชื่อในปี พ.ศ. 2512 ทั้งหมด และในใบนำส่งมีข้อความระบุว่าให้ผู้ซื้อเชื่อชำระราคาสินค้าให้ผู้ขายเสร็จภายใน 30 วัน ดังนั้นสิทธิเรียกร้องจึงเกิดขึ้นนับจากวันถึงกำหนดชำระ คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องหนี้สินที่ค้างชำระเกี่ยวกับจำเลยซื้อเชื่อยางรถ สิทธิเรียกร้องจึงมีกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) แต่ปรากฏว่าตามใบนำส่งสินค้าทุกฉบับนับจากวันถึงกำหนดชำระจนถึงวันโจทก์ฟ้องคดีนี้คือวันที่ 21 เมษายน 2515 เลยกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ จำเลยไม่จำต้องรับผิดในมูลหนี้ที่โจทก์ฟ้อง ข้อฎีกาของโจทก์ที่ว่า จำเลยได้ส่งยางคืนเพื่อเรียกค่าชดเชยจากโจทก์ตามข้อตกลงถึง 9 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 22เมษายน 2513 คิดเป็นเงินหักกับราคายางที่ซื้อไปถือว่าเป็นการรับสภาพหนี้ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้น เห็นว่าข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นการตกลงกันในเรื่องคุณภาพของสินค้า โดยโจทก์ยอมให้จำเลยมีสิทธิส่งยางที่ชำรุดคืนเพื่อชดเชยเป็นเงินหักกับราคายางที่จำเลยซื้อไปได้ จำเลยจะใช้สิทธิเช่นว่านั้นหรือไม่ ย่อมแล้วแต่ฝ่ายจำเลย ซึ่งเป็นสิทธิของจำเลยผู้ซื้อจะเลือกปฏิบัติเท่านั้น เมื่อจำเลยคืนยางชำรุด โจทก์ก็ออกใบเครดิตโน้ทให้ซึ่งก็เป็นเพียงหลักฐานที่ฝ่ายโจทก์ยินยอมชดเชยให้แก่ฝ่ายจำเลยเองและเป็นหลักฐานที่โจทก์ฝ่ายเดียวทำขึ้นเพื่อให้แก่ฝ่ายจำเลย หาใช่เป็นการรับสภาพหนี้ของจำเลยอันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงไม่ สิทธิเรียกร้องของโจทก์เกิดขึ้นนับแต่วันถึงกำหนดชำระแล้ว หาใช่นับแต่วันหักบัญชีราคายางดังที่โจทก์ฎีกาไม่

พิพากษายืน

Share