คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5826/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 มีความรับผิดตามสัญญาจำนองในต้นเงิน10,000,000 บาท และ 20,000,000 บาท ตามลำดับ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยเมื่อสัญญาจำนองระบุว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินกับเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องในการกู้เงิน เบิกเงินเกินบัญชี และหนี้อื่นทุกประเภททั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะมีขึ้นในภายหน้า และจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นให้ผู้ร้อง ดังนั้น การคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ในอัตราใดต้องเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชีตั๋วสัญญาใช้เงิน หนังสือค้ำประกัน และสัญญากู้เงินอันเป็นมูลหนี้ประธาน ส่วนสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์อันก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนอง หนี้ประธานมี 4 ประเภท อัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยต่างกัน เมื่อปรากฏว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นรายที่ตกหนักแก่จำเลยที่ 1 ที่สุด และหนี้ทุกประเภทเป็นหนี้ที่มีประกันเท่ากันและเงินที่ได้จากการบังคับจำนองไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดทุกราย จึงต้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนองจึงต้องคิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี เมื่อดอกเบี้ยที่ทบเข้าจนกลายเป็นต้นเงินเป็นจำนวน30,000,000 บาท เป็นวงเงินจำนองเต็มตามสัญญาจำนองที่ดินรวมกับสัญญาจำนองเครื่องจักรที่ทำขึ้น ซึ่งในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องเต็มตามวงเงินนั้นเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองได้นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เลิกกัน หลังจากนั้นผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้จากต้นเงินจำนอง30,000,000 บาท

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระเงิน 62,515,923.10 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ15 ต่อปี จากต้นเงิน 39,336,794.28 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์สินจำนองของจำเลยที่ 1 และทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งหกออกขายทอดตลาดเอาเงินชำระหนี้โจทก์จนครบ แต่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างและเครื่องจักรของจำเลยที่ 1 ออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิเหนือทรัพย์สินจำเลยที่ 1 ค้างชำระหนี้ผู้ร้องคิดถึงวันยื่นคำร้องเป็นเงินรวมทั้งสิ้น 210,471,924.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 81,615,855.28 บาท อัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 22,863,000 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน40,000 บาท และอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 17,713,500.08บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง
จำเลยที่ 1 ไม่ยื่นคำคัดค้าน
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินในวงเงิน 10,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและเป็นเจ้าหนี้จำนองเครื่องจักรวงเงิน 20,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นแต่ผู้ร้องกลับเรียกร้องเกินสิทธิจำนอง หากผู้ร้องมีสิทธิขอรับชำระหนี้จำนองได้ แต่สิทธิเรียกดอกเบี้ยค้างชำระคงมีกำหนดย้อนหลังไม่เกิน 5 ปี โดยคิดจากวงเงินจำนองดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่โจทก์ยึดไว้ภายหลังจากหักชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองลำดับหนึ่งก่อน แล้วให้ผู้ร้องรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่นเป็นจำนวนเงิน 210,471,924.68บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน81,615,855.28 บาท อัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน22,863,000 บาท อัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000 บาทและอัตราร้อยละ 14 ต่อปี จากต้นเงิน 17,713,500.08 บาท นับถัดจากวันยื่นคำร้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้ร้อง หากโจทก์ไม่ดำเนินการบังคับคดี ให้ผู้ร้องบังคับคดีต่อไปได้ แจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนจำนองที่ดินและเครื่องจักรเป็นประกันหนี้รวมจำนวน 30,000,000 บาท อันเป็นการประกันอันดับสองต่อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องตามคำพิพากษาศาลจังหวัดปทุมธานีจำนวน 210,471,924.68 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14ต่อปี จากต้นเงิน 99,329,355.36 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16 ต่อปี จากต้นเงิน 22,863,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี จากต้นเงิน 40,000 บาท นับแต่วันที่ฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 3,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า ผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเพียงใด ที่โจทก์ฎีกาว่าผู้ร้องมีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในต้นเงิน 30,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราของหนี้ประธานเท่านั้น นอกนั้นเป็นหนี้สามัญ เห็นว่า ตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.26 ระบุว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินแก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่ 1เป็นจำนวนเงิน 10,000,000 บาท สัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.27 ระบุว่าจำเลยที่ 1 จำนองเครื่องจักรแก่ผู้ร้องเป็นประกันหนี้จำเลยที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 20,000,000 บาท จำเลยที่ 1 จึงมีความรับผิดตามสัญญาจำนองในต้นเงิน 10,000,000 บาท และ20,000,000 บาท ตามลำดับ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 715 บัญญัติว่า ทรัพย์สินซึ่งจำนองย่อมเป็นประกันเพื่อการชำระหนี้กับทั้งค่าอุปกรณ์ต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) ดอกเบี้ย
(2) ค่าสินไหมทดแทนในการไม่ชำระหนี้
(3) ค่าฤชาธรรมเนียมในการบังคับจำนองและตามสัญญาจำนอง เอกสารหมาย ร.26 ร.27 ระบุว่าจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินกับเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องในการกู้เงิน เบิกเงินเกินบัญชีและหนี้อื่นทุกประเภททั้งที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้อยู่แล้วในขณะทำสัญญาและหนี้ที่จะมีขึ้นในภายหน้าและจำเลยที่ 1 ยอมเสียดอกเบี้ยทบต้นให้ผู้ร้องดังนั้น โจทก์จะคิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราใดต้องเป็นไปตามสัญญากู้เบิกเงินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงินหนังสือค้ำประกัน และสัญญากู้เงินอันเป็นมูลหนี้ประธาน ส่วนสัญญาจำนองเป็นเพียงหนี้อุปกรณ์อันก่อให้เกิดสิทธิแก่เจ้าหนี้ในการที่จะบังคับเอาแก่ทรัพย์จำนอง แต่เนื่องจากหนี้ประธานมี4 ประเภท อัตราดอกเบี้ยและวิธีคิดดอกเบี้ยต่างกัน กล่าวคือตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 16.5 ต่อปีชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากผิดนัดชำระดอกเบี้ยให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินเป็นคราว ๆ ไป ตามตั๋วสัญญาใช้เงินและสัญญารับชำระหนี้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ต่อปี นับแต่วันที่ในตั๋วสัญญาใช้เงินจนถึงวันชำระเงินเสร็จในกรณีชำระเงินคืนไม่ทันในวันที่ตั๋วสัญญาใช้เงินครบกำหนดชำระ ให้เพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีกในอัตราร้อยละ 11 ต่อปี ตามหนังสือรับรองซึ่งเป็นข้อตกลงให้ออกหนังสือค้ำประกันดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี และตามสัญญากู้เงินดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 17 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยเป็นรายเดือน หากค้างชำระดอกเบี้ยไม่น้อยกว่า 1 ปี ให้ดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้าเป็นต้นเงิน ดังนั้นหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจึงเป็นรายที่ตกหนักแก่จำเลยที่ 1 ที่สุด และหนี้ทุกประเภทเป็นหนี้ที่มีประกันเท่ากัน เมื่อเงินที่ได้จากการบังคับจำนองต้องนำไปชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาจำนอง 2 ฉบับรวม 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งไม่สามารถชำระหนี้ได้หมดทุกราย จึงต้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 328 วรรคสอง ดังนั้นการคิดดอกเบี้ยจากต้นเงินจำนองจึงต้องคิดตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี สัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.26 ทำเมื่อวันที่23 เมษายน 2524 จำเลยที่ 1 จำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ต่อผู้ร้องในต้นเงิน 10,000,000 บาท วันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องเต็มตามวงเงินจำนองเป็นวันเริ่มต้นการคิดดอกเบี้ยทบต้นในอัตราเดียวกับดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากต้นเงิน 10,000,000 บาท ซึ่งเป็นการคิดเช่นเดียวกับหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจากต้นเงินเดียวกัน ไม่มีส่วนดอกเบี้ยของสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.26 แยกออกจากดอกเบี้ยของสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ดอกเบี้ยที่ทบเข้าแล้วก็กลายเป็นต้นเงิน ดังนั้นเมื่อดอกเบี้ยทบเข้าจนกลายเป็นต้นเงินเป็นจำนวน30,000,000 บาท จึงเป็นวงเงินจำนองเต็มตามสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.26 รวมกับสัญญาจำนองเอกสารหมาย ร.27 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2525 โดยจำเลยที่ 1 จำนองเครื่องจักรเป็นประกันหนี้ต่อผู้ร้องในต้นเงิน 20,000,000 บาท ซึ่งในวันที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องเต็มตามวงเงินนั้นเป็นวันเริ่มต้นของการคิดดอกเบี้ยเมื่อจำเลยที่ 1 เป็นหนี้ผู้ร้องมีจำนวนเกิน 30,000,000 บาท ในวันที่ 28 ธันวาคม 2527 ผู้ร้องจึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาจำนองได้นับแต่วันนั้นเป็นต้นไปจนถึงวันที่สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 เลิกกัน คือวันที่ 30 เมษายน 2534หลังจากนั้นผู้ร้องมีสิทธิคิดดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นได้จากต้นเงินจำนอง 30,000,000 บาท ในอัตราตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 268/2537 ของศาลจังหวัดปทุมธานีเอกสารหมาย ร.61 นับแต่วันเลิกสัญญาถึงวันที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าว แต่อัตราดอกเบี้ยต้องไม่เกินร้อยละ 17.5 ต่อปี ตามที่ปรากฏในตารางแสดงการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีเอกสารหมาย ร.55 และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคดีดังกล่าวไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองเสร็จ
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองที่โจทก์ยึดไว้ภายหลังจากหักชำระหนี้ให้แก่โจทก์ในฐานะเจ้าหนี้จำนองอันดับหนึ่งก่อน แล้วให้ผู้ร้องรับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้สามัญรายอื่นจำนวน 30,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยทบต้นอัตราตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีนับแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2527 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2534 ดอกเบี้ยแบบไม่ทบต้นในต้นเงิน 30,000,000 บาท นับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2524ถึงวันฟ้องคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 268/2537 ของศาลจังหวัดปทุมธานีในอัตราที่ปรากฏในคำพิพากษาดังกล่าว แต่อัตราดอกเบี้ยนั้นต้องไม่เกินร้อยละ 17.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องคดีดังกล่าวให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ไปจนกว่าผู้ร้องจะได้รับชำระหนี้ตามสัญญาจำนองเสร็จ

Share