แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
แม้ซ. เป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินฯมาตรา86แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใดๆเสียเลยเพราะซ. ยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา94ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดหรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้จึงต้องถือว่าตราบใดที่ซ.หรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของซ. เมื่อซ. ถึงแก่ความตายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมเป็นมรดกของซ. โจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของซ. จึงมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นบุตรของนายซงเล้งหรือซ้งเล้งแซ่นิ้มหรือแซ่ลิ้ม กับนางบั๊กสูง นายซงเล้งถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ มีทรัพย์มรดกคือที่ดินโฉนดเลขที่ 176033และ 176034 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง แต่เนื่องจากนายซงเล้งเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงลงชื่อจำเลยกับนายชัชชัย ทรงมุนีโรจน์ แทน ต่อมานายชัชชัยโอนให้จำเลยมีชื่อเพียงผู้เดียว ขอให้บังคับจำเลยแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวภายหลังจากแบ่งให้นางบั๊กสูงครึ่งหนึ่งแล้วโดยแบ่งออกเป็น 7 ส่วน ให้โจทก์ 1 ส่วน คิดเป็นเงิน 428,571.43 บาทหากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง และหากตกลงไม่ได้ให้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาดแล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์1 ใน 7 ส่วน
จำเลยให้การว่า ที่ดินทั้งห้าแปลงพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องไม่ใช่ทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์จำเลย แต่เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยซื้อมา ส่วนตึกแถวจำเลยปลูกสร้างด้วยเงินของจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องเป็นทรัพย์มรดกของนายซงเล้ง โจทก์เป็นบุตรของนายซงเล้งมีสิทธิได้รับมรดก 1 ใน 7 ส่วน ของจำนวนที่เหลือภายหลังแบ่งให้แก่นางบั๊กสูงกึ่งหนึ่งแล้ว เท่ากับโจทก์มีสิทธิได้รับมรดก1 ใน 14 ส่วนของทรัพย์มรดก พิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินโฉนดเลขที่ 176030 (ที่ถูกต้อง 176033) และ 176034 ตำบลสวนหลวง(พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 146/139-140 ที่ดินโฉนดเลขที่ 90957, 186552และ 186553 ตำบลสวนหลวง (บางจาก) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานครพร้อมสิ่งปลูกสร้างตึกแถวเลขที่ 25/229-230 ให้โจทก์ 1 ใน 14 ส่วนคิดเป็นเงิน 428,571.43 บาท หากไม่สามารถแบ่งได้ให้ประมูลระหว่างกันเอง และหากตกลงกันไม่ได้นำทรัพย์มรดกดังกล่าวออกขายทอดตลาด แล้วนำเงินแบ่งให้โจทก์ 1 ใน 14 ส่วน
จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำฟ้องของโจทก์บรรยายว่า บิดาโจทก์เป็นคนต่างด้าวไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงลงชื่อจำเลยกับนายชัชชัย ทรงมุนีโรจน์ เป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทน แต่มานายชัชชัยโอนให้จำเลยมีชื่อเพียงผู้เดียวการกระทำของบิดาโจทก์เป็นการหลีกเลี่ยงประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย และเมื่อโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลย จึงไม่เป็นสาระแก่คดีที่จะต้องวินิจฉัยพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า นายซงเล้งบิดาของโจทก์จำเลยเป็นคนต่างด้าวไม่สามารถมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้จึงลงชื่อจำเลยกับนายชัชชัยเป็นผู้รับโอนกรรมสิทธิ์แทน ต่อมานายชัชชัยโอนให้จำเลยมีชื่อเพียงผู้เดียวจริงตามคำฟ้องของโจทก์การที่นายซงเล้งซึ่งเป็นบุคคลต่างด้าวได้ที่ดินมาดังกล่าวแม้จะถือได้ว่าเป็นการได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 86 แต่การได้ที่ดินมานั้นก็มิใช่ว่าจะไม่มีผลใด ๆ เสียเลยเพราะนายซงเล้งยังมีสิทธิได้รับผลตามมาตรา 94 ในอันที่จะจัดการจำหน่ายที่ดินนั้นได้ภายในเวลาที่อธิบดีกำหนดหรืออธิบดีอาจจำหน่ายที่ดินนั้นได้ จึงต้องถือว่าตราบใดที่นายซงเล้งหรืออธิบดียังไม่ได้จำหน่ายที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวก็ยังเป็นของนายซงเล้ง เมื่อนายซงเล้งถึงแก่ความตายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นย่อมเป็นทรัพย์มรดกของนายซงเล้งซึ่งโจทก์ในฐานะที่เป็นทายาทโดยธรรมของนายซงเล้งมีอำนาจฟ้องขอแบ่งทรัพย์มรดกดังกล่าวจากจำเลยได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในปัญหานี้ฟังขึ้นและเนื่องจากศาลอุทธรณ์ยังไม่ได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในประเด็นข้ออื่น จึงสมควรย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาและพิพากษาใหม่”
พิพากษายก คำพิพากษา ศาลอุทธรณ์ ให้ ศาลอุทธรณ์ พิจารณา และพิพากษา ใหม่ ตาม รูปคดี