แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินสองแปลงให้โจทก์และเสียค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หาก ไม่อาจโอนได้ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ การที่เจ้าพนักงานที่ดิน ประเมินราคาที่ดินเพียงแปลงเดียว ให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้เป็นเงิน 3,213,280 บาท แต่ราคาที่ดินตาม สัญญาจะซื้อจะขายเป็นเงิน1,525,925 บาท เมื่อหักเงินมัดจำออกแล้ว จำเลยจะได้รับชำระเงินจากโจทก์อีกประมาณ 1,000,000 บาท ไม่พอ ชำระค่าธรรมเนียมในการโอน จำเลยต้องหาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมอีก 2,000,000 กว่า บาทการที่จำเลยมีเงินไม่พอชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้นั้นไม่ใช่เป็นกรณีสภาพแห่งหนี้ไม่เปิด ช่องให้โอนที่ดินให้โจทก์ได้ แต่เป็นกรณีที่จำเลยมีภาระเพิ่มขึ้น ในการที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยจะคืนเงินมัดจำ แทนการโอนที่ดินให้โจทก์หาได้ไม่.
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินรวมสองแปลงแก่โจทก์โดยให้จำเลยเสียค่าธรรมเนียม ค่าอากรค่าภาษีเงินได้ ตามสัญญาจะซื้อจะขาย หากไม่อาจโอนได้ให้จำเลยคืนเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า ไม่สามารถปฏิบัติตามคำบังคับของศาลได้ เพราะเจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาเฉพาะที่ดินโฉนดเลขที่ 415เป็นเงิน 17,904,000 บาท ซึ่งต้องเสียค่าธรรมเนียมเป็นเงิน358,080 บาท ค่าอากรเป็นเงิน 89,520 บาท ค่าภาษีเงินได้เป็นเงิน1,960,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,407,600 บาท หากบังคับตามสัญญาจะซื้อจะขายจำเลยที่ 1 จะได้รับเงินเพียง 1,525,925 บาท จะต้องหาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมอีก 1,000,000 บาทเศษ จึงไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ ต้องขอคืนเงินมัดจำพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
ศาลชั้นต้นสั่งยกคำร้อง
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 จะขอคืนเงินมัดจำ 400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีให้โจทก์แทนการโอนที่ดินโฉนดเลขที่ 415 และ 1905 ให้โจทก์ได้หรือไม่ ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานที่ดินประเมินราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 415 แปลงเดียวเป็นเงิน 17,904,000 บาท จำเลยที่ 1ต้องเสียค่าธรรมเนียม 358,080 บาท ค่าอากร 895,200 บาทค่าภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายอีก 1,960,000 บาท รวมเป็นเงิน3,213,280 บาท แต่ราคาที่ดินตามสัญญาจะซื้อจะขายเป็นเงิน1,525,925 บาท หักเงินมัดจำ 400,000 บาท ออกแล้ว โจทก์จะต้องชำระเงินส่วนที่เหลือให้จำเลยอีกประมาณ 1,000,000 บาท ซึ่งไม่พอชำระค่าธรรมเนียมในการโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้โจทก์ จำเลยที่ 1ต้องหาเงินมาชำระค่าธรรมเนียมอีก 2,000,000 กว่าบาท เพราะฉะนั้นสภาพแห่งการบังคับคดีตามคำพิพากษาลำดับแรกที่บังคับให้จำเลยที่ 1โอนที่ดินให้โจทก์จึงไม่เปิดช่องให้กระทำได้นั้น เห็นว่า ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงยังมีชื่อจำเลยที่ 1 ถือกรรมสิทธิ์ กรณีจึงยังสามารถบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาได้ การที่จำเลยที่ 1ไม่มีเงินพอชำระค่าธรรมเนียม ค่าอากร ค่าภาษีเงินได้นั้น ไม่ใช่เป็นกรณีสภาพหนี้ไม่เปิดช่องให้โอนที่ดินให้โจทก์ได้ แต่เป็นกรณีที่จำเลยที่ 1 มีภาระเพิ่มขึ้นในการที่ต้องปฏิบัติการชำระหนี้ให้โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชำระเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มมากขึ้นจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิจะคืนเงินมัดจำ 400,000 บาท แทนการโอนที่ดินตามคำร้องจำเลยที่ 1…”
พิพากษายืน.