คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5809/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534เพิ่งใช้บังคับเมื่อวันที่21กุมภาพันธ์2535แต่การว่าจ้างขนส่งสินค้าพิพาททำสัญญากันก่อนวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มีผลใช้บังคับดังนั้นในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าพิพาทจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา616ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดีตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา4จะนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ.2534มาปรับใช้แก่คดีนี้หาได้ไม่ โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทจากบริษัทผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาทเมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งโจทก์มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา877และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นนั้นทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตามมาตรา880วรรคหนึ่ง การรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมายตามมาตรา880วรรคหนึ่งหาใช่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาไม่ดังนั้นข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยหรือผู้ส่งสินค้ากับจำเลยที่ตกลงกันให้นำข้อพิพาทอันเกิดจากใบตราส่งไปฟ้องต่อศาลของเมืองโคเปนเฮเกนและให้ใช้กฎหมายประเทศเดนมาร์กบังคับจึงไม่มีผลผูกพันโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัดจดทะเบียนที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มีสาขาในประเทศไทย โจทก์รับประกันภัยสินค้าซึ่งเป็นวัว 707 ตัว ไว้จากบริษัท ดี เจ ฟาร์ม จำกัดผู้ซื้อวัวจำนวนดังกล่าวจากบริษัทกิปส์แลนด์ แอนด์ นอร์ทเธิร์นจำกัด ผู้ขาย ที่กำหนดขนส่งจากเมืองพอร์ทแลนด์ ประเทศออสเตรเลียถึงกรุงเทพมหานคร โดยเรือคริสติน่า 1 แล้วขนส่งโดยรถยนต์ต่อจากกรุงเทพมหานครไปยังฟาร์มที่จังหวัดปราจีนบุรีบริษัทกิปส์แลนด์ แอนด์ นอร์ทเธิร์น จำกัด ผู้ขายได้ว่าจ้างจำเลยที่ 1 ให้ขนส่งวัวรายนี้จากประเทศออสเตรเลียมายังกรุงเทพมหานคร จำเลยที่ 1 ได้รับวัวครบถ้วนและในสภาพเรียบร้อยแล้วได้ออกใบตราส่งให้แก่ผู้ขาย ต่อมาวันที่ 30 พฤศจิกายน 2533เรือถึงกรุงเทพมหานครปรากฏว่าวัวโฮลสเต้น/ไฟร์เซี่ยน ไฮเฟอร์ตาย 3 ตัว แท้ง 4 ตัว วัวเจอร์ซี่ ไฮเฟอร์ ตาย 1 ตัว ในระหว่างการขนส่งของจำเลยที่ 1 ความเสียหายตามมูลค่าประกันภัยเป็นเงิน130,943.65 บาท และในวันที่ 1 ธันวาคม 2533 บริษัท ดี เจ ฟาร์มจำกัด ได้ไปขอรับวัวจากจำเลยที่ 1 และว่าจ้างจำเลยที่ 3 ขนส่งวัวที่มีชีวิตจากกรุงเทพมหานครไปยังฟาร์ม ปรากฏว่าเมื่อถึงฟาร์มที่จังหวัดปราจีนบุรี วัวโฮลสเต้น/ไฟร์เซี่ยน ไฮเฟอร์ ตายอีก3 ตัว แท้ง 6 ตัว กับบาดเจ็บและตายในเวลาต่อมาอีก 1 ตัวอันเนื่องมาจากการขนส่งของจำเลยที่ 3 ค่าเสียหายตามมูลค่าประกันภัยเป็นเงิน 148,521.69 บาท โจทก์ได้ชดใช้ค่าเสียหายโดยจ่ายให้แก่บริษัท ดี เจ ฟาร์ม จำกัด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2534 เป็นเงินรวม 279,465.34 บาท จึงรับช่วงสิทธิมาเรียกร้อง จำเลยที่ 1ต้องรับผิดในฐานะผู้ขนส่งจากเมืองพอร์ทแลนด์ประเทศออสเตรเลียมายังกรุงเทพมหานคร ซึ่งวัวโฮลสเต้น/ไฟร์เซี่ยน ไฮเฟอร์ตาย 3 ตัว แท้ง 4 ตัว วัวเจอร์ซี่ ไฮเฟอร์ ตาย 1 ตัว เป็นเงิน130,943.65 บาท และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นตัวแทนโดยเป็นผู้ติดต่อแทนจำเลยที่ 1 ในส่วนกิจการรับขนในประเทศไทย เป็นลักษณะของการแบ่งงานกันทำเป็นทอด ๆ กับจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1รับผิดต่อโจทก์ด้วย สำหรับจำเลยที่ 3 ต้องรับผิดในฐานะผู้รับขนจากเรือไปยังฟาร์ม แล้ววัวโฮลสเต้น/ไฟร์เซี่ยน ไฮเฟอร์ตาย 4 ตัว แท้ง 6 ตัว เป็นเงิน 148,521.69 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์จ่ายเงินไปจนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,547.18 บาท และ 7,426.08 บาท ตามลำดับ ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชดใช้เงิน 137,490.83 บาท และจำเลยที่ 3 ชดใช้เงิน 155,947.77 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 130,943.65 บาท และ 148,521.69 บาทตามลำดับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การว่า ในการขนส่งวัวรายนี้จำเลยที่ 1กับบริษัทกิปส์แลนด์ แอนด์ นอร์ทเธิร์น จำกัด มีข้อตกลงซึ่งมีหลักฐานเป็นใบตราส่งว่ากรณีที่มีข้อพิพาทเกี่ยวกับการขนส่งขึ้นแล้วให้ชี้ขาดโดยศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีทางทะเลและทางการค้าแห่งกรุงโคเปนเฮเกน และให้ใช้กฎหมายของประเทศเดนมาร์กซึ่งมีผลให้โจทก์ผู้รับช่วงสิทธิไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลแพ่ง จำเลยที่ 1 ได้ใช้วิธีบรรทุกวัวถูกต้องตามมาตรฐานสากลแต่วัวที่ตายและแท้งเกิดจากสุขภาพกับสภาพของวัวเองวัวเจอร์ซี่ ไฮเฟอร์ ที่ตาย 1 ตัว นั้น เกิดขาหักโดยไม่ทราบสาเหตุเพื่อไม่ให้ทนทุกข์ทรมานนายเรือจึงสั่งฆ่ากับในการขนส่งมีข้อตกลงว่าไม่ต้องรับผิดในกรณีที่วัวตายหรือสุขภาพไม่ดีในระหว่างการขนส่งจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนรับจ้างจากจำเลยที่ 1 ทำพิธีการเรือเท่านั้น มิได้ร่วมขนส่งด้วย ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำการขนส่งวัวแล้วเสร็จในวันเดียวกัน ส่งมอบเรียบร้อย ไม่มีตายหรือแท้งอันเนื่องมาจากการขนส่ง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 130,943.65 บาทให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 73,541.52 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 มีนาคม 2534 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 2 คำขออื่นให้ยก
จำเลย ที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ พิพากษายืน
จำเลย ที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1ข้อแรกมีว่า จะต้องนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาปรับใช้แก่คดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเลพ.ศ. 2534 เพิ่งใช้บังคับเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2535 แต่การว่าจ้างขนส่งสินค้าพิพาททำสัญญากันตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2533ตามใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 ซึ่งเป็นเวลาก่อนวันที่พระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับ ดังนั้นในการฟ้องเรียกค่าเสียหายเกี่ยวกับสินค้าพิพาทจึงต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 616 ที่บัญญัติว่า “ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดในการที่ของอันเขาได้มอบหมายแก่ตนนั้นสูญหายหรือบุบสลายหรือส่งมอบชักช้า เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการสูญหายหรือบุบสลายหรือชักช้านั้นเกิดแต่เหตุสุดวิสัย หรือเกิดแต่สภาพแห่งของนั้นเองหรือเกิดเพราะความผิดของผู้ส่งหรือผู้รับตราส่ง” ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นอันเป็นบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาปรับแก่คดี ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 4 จะนำเอาพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534มาปรับใช้แก่คดีนี้หาได้ไม่
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 1 ข้อต่อไปมีว่า โจทก์ในฐานะผู้รับช่วงสิทธิบริษัท ดี เจ ฟาร์ม จำกัด มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลในประเทศไทยหรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวจำเลยที่ 1อ้างว่าผู้ส่งและผู้ขนส่งมีข้อตกลงกันว่าหากมีข้อพิพาทเกิดขึ้นจะต้องฟ้องคดีต่อศาลในเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กตามที่ระบุไว้ในใบตราส่งเอกสารหมาย ล.1 พร้อมคำแปลข้อ 16 ว่า”ข้อโต้เถียงใด ๆ ที่ได้เกิดขึ้นจากใบตราส่งนี้จะถูกตัดสินโดยศาลทางการค้าทางทะเลของเมืองโคเปนเฮเกน และให้ใช้กฎหมายประเทศเดนมาร์กบังคับ” นั้น เห็นว่า โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยสินค้าพิพาทจากบริษัท ดี เจ ฟาร์ม จำกัด ผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้สั่งซื้อสินค้าพิพาทตามกรมธรรม์ประกันภัยเอกสารหมาย จ.11เมื่อสินค้าพิพาทได้รับความเสียหายในระหว่างการขนส่งโจทก์มีหน้าที่ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 877 และผลแห่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเช่นนั้นทำให้โจทก์อยู่ในฐานะเป็นผู้รับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยที่จะฟ้องเรียกเอาค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1ซึ่งเป็นผู้ขนส่งสินค้าพิพาทได้ในนามของโจทก์เองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 880 วรรคหนึ่ง และการรับช่วงสิทธิของโจทก์ดังกล่าวเกิดขึ้นโดยอำนาจแห่งกฎหมายตามมาตรา 880 วรรคหนึ่งดังกล่าวข้างต้นนั้น หาใช่เกิดจากข้อตกลงในสัญญาไม่ ดังนั้นข้อตกลงระหว่างผู้เอาประกันภัยกับจำเลยที่ 1 หรือผู้ส่งสินค้ากับจำเลยที่ 1 ที่ตกลงกันให้นำข้อพิพาทอันเกิดจากใบตราส่งเอกสารหมาย จ.12 หรือ ล.1 ไปฟ้องต่อศาลของเมืองโคเปนเฮเกนและให้ใช้กฎหมายประเทศเดนมาร์กบังคับ จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
พิพากษายืน

Share