คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5808/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านในท้องถิ่นที่เอื้อเฟื้อกันกรณีผู้ที่อยู่ในสวนที่ลึกจะต้องอาศัยเดินผ่านสวนของผู้อื่นออกไปสู่ภายนอกได้ การอนุญาตดังกล่าวเป็นการแสดงออกชัดโดยทางปฏิบัติของเจ้าของที่ดินเป็นการทั่วไปที่ไม่หวงห้ามหรือสงวนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตน ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนเป็นภารจำยอมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ จึงมิใช่การอนุญาตด้วยความคุ้นเคยหรือวิสาสะเป็นการเฉพาะตัว ดังนั้นการใช้ทางพิพาทของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวจึงได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความ สิทธิภารจำยอมของโจทก์ได้มีขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายรับรองและจะสิ้นสุดไปก็โดยเหตุต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนด ส่วนของจำเลยทั้งหมดที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์นี้เป็นสิทธิคนละอันกับสิทธิภารจำยอมของโจทก์ การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์โดยทางทะเบียนไม่เป็นเหตุให้สิทธิภารจำยอมของโจทก์สิ้นสุดลงได้

ย่อยาว

คดีทั้ง 25 สำนวนนี้ ศาลชั้นต้นรวมพิจารณาและพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกลำดับที่จำเลยเรียงตามรายชื่อและลำดับเลขคดีตั้งแต่สำนวนคดีหมายเลขดำที่ 4311/2530 ถึงคดีหมายเลขดำที่4335/2530 ของศาลชั้นต้น เป็นจำเลยที่ 1 ถึงที่ 32 ตามลำดับ
โจทก์ทั้ง 25 สำนวน ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องในบางสำนวนเป็นใจความในทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9819 จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 2110และ 2096 ตั้งแต่ปี 2510 เป็นต้นมา โจทก์ใช้ที่ดินทางด้านทิศเหนือของที่ดินโฉนดเลขที่ 10244, 2096, 2329 กว้าง 5 เมตร ยาวตลอดแนวติดต่อกันจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกเป็นทางเข้าออกจากที่ดินของโจทก์สู่ทางสาธารณะโดยสงบเปิดเผย เป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้วต่อมาที่ดินทั้งสามแปลงนี้และที่ดินโฉนดเลขที่ 2110 ได้โอนนำมารวมกันและแบ่งแยกออกเป็นแปลงย่อยเพื่อจัดสรรขายโจทก์จึงได้สิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินแปลงย่อยที่แบ่งแยกแล้วดังกล่าวด้วย จำเลยที่ 1และที่ 2 ได้ก่อสร้างรั้วคอนกรีตลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2110, 2096และก่อสร้างรั้วและตึกแถวลงบนที่ดินโฉนดเลขที่ 2329 และ 32012ถึง 32033 ซึ่งอยู่แนวเดียวกัน ปิดกั้นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะของโจทก์ โจทก์บอกกล่าวจำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้เปิดทางให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 เพิกเฉยและได้โอนขายที่ดินแปลงย่อยให้แก่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 31 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยส่วนที่เหลือยังคงเป็นของจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 32 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 29010และ 36183 ซึ่งแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 10244 เดิมโดยจำเลยที่ 32 รับโอนกรรมสิทธิ์มาในปี 2527 ต่อมาประมาณกลางปี 2530จำเลยที่ 3 ก่อสร้างตึกแถวลงบนที่ดินแปลงที่รับโอนมาปิดกั้นทางเข้าออกของโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวให้จำเลยทุกสำนวนเปิดทางภารจำยอมให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยดังกล่าวเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยเปิดทางภารจำยอมทางด้านทิศเหนือของที่ดินจำเลยแต่ละแปลงกว้าง 5 เมตรยาวตลอดแนวจากทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกของที่ดินให้แก่โจทก์ โดยให้โจทก์ได้สิทธิภารจำยอมเหนือที่ดินแต่ละโฉนดย่อยทั้ง27 แปลง ให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้แก่ที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 ให้การในทำนองเดียวกันว่า ที่ดินของโจทก์มีทางออกสู่ทางสาธารณะทางด้านทิศตะวันตกโดยเดินผ่านที่ดินโฉนดเลขที่ 5738 โจทก์ไม่เคยอยู่อาศัยหรือทำประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ คงปล่อยให้รกร้างและไม่เคยใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 10244, 2096, 2329 เป็นทางเข้าออกสู่ทางสาธารณะทั้งยังมีคลองกั้นระหว่างที่ดินของโจทก์กับที่ดินที่โจทก์อ้างว่าเดินผ่านจนได้สิทธิในภารจำยอม โจทก์จึงไม่ได้สิทธิในทางภารจำยอมดังอ้าง จำเลยที่ 1 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 2096, 2329, 2110 เมื่อปี 2526 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว ขณะที่ซื้อไม่ปรากฏว่ามีทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นเหนือที่ดินที่ซื้อมา โจทก์ไม่เคยคัดค้านขณะจำเลยดำเนินการปลูกสร้างอาคารมาก่อน จำเลยที่ 3 ถึงที่ 31 ซื้อที่ดินที่แบ่งแยกแล้วจากจำเลยที่ 1 โดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วขณะที่ซื้อไม่ปรากฏว่ามีทางจำเป็นหรือทางภารจำยอมผ่านที่ดินที่ซื้อมา จำเลยที่ 32 ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 29010 และ 36183 เมื่อปี 2527โดยเสียค่าตอบแทน โดยสุจริตและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริต และสร้างตึกแถวลงในที่ดินที่ซื้อมาแล้ว ที่ดินที่จำเลยที่ 32 ซื้อมาไม่เคยมีทางผ่านและโจทก์ไม่เคยคัดค้านจึงมีสิทธิดีกว่าโจทก์โจทก์ไม่อาจยกเรื่องภารจำยอมขึ้นมาอ้างได้ ทางพิพาทหากมีก็เป็นเพียงทางอาศัยเดินในสวนกว้างไม่เกิน 1 เมตร ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 17 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาว่าที่ดินของจำเลยทั้ง 31 คนรวม 27 โฉนด ตามแผนที่ท้ายฟ้องหมายเลข 2 ทางด้านทิศเหนือทุกโฉนดกว้าง 3 เมตร เริ่มจากโฉนดเลขที่ 29010 เรียงตามลำดับจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก เป็นทางภารจำยอมของที่ดินโฉนดเลขที่9819 ของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 32เปิดทางภารจำยอมในที่ดินโฉนดส่วนของตนให้แก่โจทก์และคนของโจทก์เดินผ่านเข้าออกสู่ทางสาธารณะห้ามมิให้ปิดกั้นต่อไป และให้จำเลยแต่ละรายจดทะเบียนภารจำยอมในที่ดินส่วนของตนแก่ที่ดินของโจทก์หากจำเลยไม่จดทะเบียนให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาจำเลย
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทุกสำนวนจดทะเบียนภารจำยอมต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ดินให้แก่ที่ดินของโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 ฎีกาว่า การใช้สิทธิในทางพิพาทของโจทก์เป็นเพียงการอาศัยสิทธิของนายปานจิตต์ ไม่ได้สิทธิโดยปรปักษ์นั้น จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 นำสืบยอมรับว่าเมื่อเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชาวบ้านในละแวกนั้นที่เอื้อเฟื้อกัน ผู้ที่อยู่ในสวนที่ลึกก็อาศัยเดินผ่านสวนของผู้อื่นออกไปสู่ข้างนอกได้ ลักษณะการอนุญาตดังกล่าวนี้เป็นการแสดงออกชัดโดยทางปฏิบัติของเจ้าของที่ดินเป็นการทั่วไปที่ไม่หวงห้ามหรือสงวนสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ของตน ยอมรับกรรมบางอย่างซึ่งกระทบถึงทรัพย์สินของตนเป็นภารจำยอมที่เกิดโดยสมัครใจ จึงมิใช่การอนุญาตด้วยความคุ้นเคยหรือวิสาสะเป็นการเฉพาะตัวอันจะถือเป็นการอาศัยสิทธิดังที่จำเลยที่ 1ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 ฎีกาไม่ การใช้ทางพิพาทของโจทก์ในลักษณะดังกล่าวนี้จึงได้สิทธิภารจำยอมโดยอายุความ
ส่วนปัญหาที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 ฎีกาอ้างเหตุว่าได้ที่ดินมาโดยเสียค่าตอบแทนทางทะเบียนโดยสุจริต แต่ส่วนของโจทก์เป็นสิทธิที่ยังไม่ได้จดทะเบียนย่อมไม่อาจยกขึ้นต่อสู้สิทธิของจำเลยทั้งหมดได้ เห็นว่า สิทธิภารจำยอมของโจทก์ได้มีขึ้นโดยผลแห่งกฎหมายรับรองและจะสิ้นสุดไปก็โดยเหตุต่าง ๆที่กฎหมายกำหนด ส่วนของจำเลยทั้งหมดที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์นี้เป็นสิทธิคนละอันกับสิทธิภารจำยอมของโจทก์การได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินภารยทรัพย์โดยทางทะเบียนไม่เป็นเหตุให้สิทธิภารจำยอมของโจทก์สิ้นสุดลงได้ดังที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 16 และจำเลยที่ 18 ถึงที่ 32 อ้าง
พิพากษายืน

Share