แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยกระทำความผิดอย่างอุกอาจโดยยิงเจ้าพนักงานตำรวจขณะเข้าจับกุมจำเลยในย่านชุมชน ทั้งยังยิงผู้บริสุทธิ์ตายอีก 2 คน เป็นการโหดเหี้ยมอำมหิตผิดมนุษย์ ไม่มีเหตุจะให้ลงโทษสถานเบา จำเลยถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุและมีประจักษ์พยานรู้เห็นเหตุการณ์มาแต่ต้น แสดงว่ามีพยานหลักฐานมัดตัวจำเลยอย่างมั่นคง การให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งหมดเป็นการจำนนต่อหลักฐานไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ไม่มีเหตุบรรเทาโทษ.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,289(2), 80, 91 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ, 72 ทวิ คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 ริบของกลางทั้งหมดเว้นแต่ซองพกหนังสีดำคืนแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288, 289 (ที่ถูกเป็น 289(2)) ประกอบมาตรา 80, 91พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526มาตรา 4 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 ทวิ วรรคสอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 44ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 3, 7 ลงโทษทุกกรรมเป็นความผิดรวม4 กระทง ฐานพยายามฆ่าเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติการตามหน้าที่ จำคุกตลอดชีวิตฐานฆ่าจ่าเอกกิตติ ให้ประหารชีวิต ฐานฆ่าเด็กชายชัยธวัชให้ประหารชีวิต ฐานพาอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี แต่เมื่อวางโทษประหารชีวิตจำเลยฐานฆ่าจ่าเอกกิตติกระทงหนึ่งแล้วจึงไม่นำโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต และจำคุก 1 ปี ในกระทงที่เหลืออีก 3 กระทงดังกล่าวมารวมด้วย ริบของกลางทั้งหมด ยกเว้นซองพกหนังสีดำคืนแก่เจ้าของ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบานั้นเห็นว่าจำเลยกระทำความผิดอย่างอุกอาจโดยยิงเจ้าพนักงานตำรวจขณะเข้าจับกุมจำเลยในย่านชุมชนดังจะเห็นได้จากสถานที่เกิดเหตุมีโรงภาพยนตร์ รถสี่ล้อรับจ้าง และมีป้อมยามตำรวจอยู่ใกล้ ๆทั้งยังยิงผู้บริสุทธิ์ตายอีก 2 คน เป็นการโหดเหี้ยมอำมหิตผิดมนุษย์ไม่มีเหตุจะให้ลงโทษสถานเบา ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลดโทษเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพตั้งแต่ชั้นจับกุมจนถึงชั้นพิจารณาของศาลนั้น เห็นว่า จำเลยถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุ และมีสิบตำรวจโทบรรเจิด ประจักษ์พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์มาแต่ต้นและได้ไล่จับจำเลยไปติด ๆ จนจับกุมจำเลยได้ ทั้งมีบิดาของเด็กชายชัยธวัชผู้ตายมารู้เห็นเหตุการณ์ด้วย แสดงว่ามีพยานหลักฐานมัดตัวจำเลยอย่างมั่นคง การให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งหมดจึงเป็นการจำนนต่อหลักฐานไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาแต่อย่างใด ไม่มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงมาตลอดจนการที่ศาลล่างทั้งสองไม่ลดโทษให้จำเลยจึงชอบแล้ว…”
พิพากษายืน.