คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 58/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์จำเลยแม้จะมีการกำหนดให้ชำระเงินเป็นงวดๆรวม4งวดโดยกำหนดวันชำระเงินแต่ละงวดไว้แน่นอนก็ตามแต่สัญญาก็มีข้อความระบุว่าถ้าโจทก์จ่ายเงินในแต่ละงวดไม่ทันตามกำหนดโจทก์ยินยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้จำเลยทั้งสองและโจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่31ธันวาคม2532หากโจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญาแสดงว่าในการชำระเงินตามงวดที่1ถึงงวดที่3คู่สัญญามิได้ถือเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องชำระเงินแต่ละงวดให้จำเลยตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญาโดยคู่สัญญายอมให้โจทก์ชำระเงินแต่ละงวดลาช้ากว่ากำหนดได้เพียงแต่โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้จำเลยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารคงมีแต่เฉพาะงวดที่4ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายเท่านั้นที่โจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้งหมดตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองเนื่องจากการชำระเงินไม่ตรงตามงวดโดยโจทก์ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่31ธันวาคม2532มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ผิดสัญญาดังนั้นการที่โจทก์มิได้ชำระเงินในงวดที่1ถึงงวดที่3ตามกำหนดเวลาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญาจำเลยทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เพราะเหตุนี้หาได้ไม่และจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกำหนดระยะเวลาขึ้นมาใหม่แล้วบอกกล่าวให้โจทก์ชำระเงินภายในระยะเวลานั้นโดยแจ้งว่าหากโจทก์ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาอันจะเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา387ได้เพราะหนังสือสัญญาจะซื้อขายได้กำหนดเวลาชำระหนี้ทั้งหมดที่ค้างชำระไว้แน่นอนตายตัวแล้วคือในวันที่31ธันวาคม2532การที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือทวงถามโจทก์ให้ชำระเงินในงวดที่1โดยกำหนดเวลาให้ชำระภายในวันที่23มิถุนายน2532และโจทก์ได้รับหนังสือทวงถามของจำเลยทั้งสองแล้วแต่โจทก์ไม่ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าวก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เช่นนั้นการที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือลงวันที่31กรกฎาคม2532บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์จึงหาเป็นผลให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกันไม่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองยังคงมีผลผูกพันต่อกันอยู่แต่การที่จำเลยทั้งสองมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่นนี้พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนไขเวลาตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายอีกต่อไปดังนั้นกำหนดเวลาตามสัญญาที่ให้จำเลยทั้งสองไปโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ในวันที่31ธันวาคม2532จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นเสียแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา154วรรคสองเดิมเมื่อโจทก์ได้มีหนังสือลงวันที่4ธันวาคม2532แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ณสำนักงานที่ดินในวันที่15ธันวาคม2532จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือของโจทก์แล้วไม่ไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่วันที่15ธันวาคม2532เป็นต้นไปโจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองปฎิบัติตามสัญญาได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกันการที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์โดยไม่กำหนดให้โจทก์ชำระราคาที่ดินที่ค้างแก่จำเลยทั้งสองนั้นเป็นการไม่ชอบด้วยการชำระหนี้ตามสัญญาค่าตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา369และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่ค้างชำระแก่จำเลยทั้งสองได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531 โจทก์ทำหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 1160 ตำบลหนองควายอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ รวม 2 แปลง พร้อมบ้านเรือนไม้1 หลัง และบ้านบังกะโล 2 หลัง เป็นเงิน 7,330,000 บาท จากจำเลยทั้งสองโดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาในฐานะส่วนตัวและในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายปิงป้อง กีรติปาล โจทก์วางมัดจำในวันทำสัญญา 70,000 บาท ส่วนที่ค้างตกลงแบ่งชำระเป็น 4 งวดงวดละ 1,815,000 บาท งวดแรกชำระวันที่ 31 มีนาคม 2532งวดที่ 2 ชำระวันที่ 30 มิถุนายน 2532 งวดที่ 3 ชำระวันที่30 กันยายน 2532 งวดที่ 4 ชำระวันที่ 3 ธันวาคม 2532 หากโจทก์ไม่ชำระตามกำหนดโจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้จำเลยทั้งสอง ตกลงโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินทั้งสองแปลงในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 หากโจทก์ผิดสัญญายอมให้จำเลยทั้งสองริบมัดจำหากจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ยอมให้โจทก์ฟ้องบังคับกับยอมใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์อีก 3 เท่า ของราคาที่ดินเป็นเงิน 21,990,000 บาท ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2531โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงระบุเพิ่มเติมสัญญาจะซื้อขายฉบับแรกว่า โจทก์ต้องชำระราคาที่ดินให้เสร็จสิ้นภายใน 31 ธันวาคม2532 หากโจทก์ไม่ดำเนินการดังกล่าว ถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาต่อมาโจทก์ชำระราคาที่ดินให้จำเลยทั้งสองอีกเป็นเงิน 105,000บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ชำระให้จำเลยทั้งสองไปแล้วจำนวน175,000 บาท เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2532 โจทก์มีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองรับชำระราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยตามสัญญาและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่จะขายให้โจทก์ภายในวันที่ 15 ธันวาคม2532 เวลา 9 นาฬิกา ถึง 11 นาฬิกา เมื่อถึงวันนัดดังกล่าวโจทก์นำแคชเชียร์เช็คธนาคารนครหลวงไทยจำกัด สาขาเชียงใหม่จำนวน 2 ฉบับ สั่งจ่ายตามคำสั่งของจำเลยทั้งสองเพื่อชำระราคาที่ดินที่ค้าง และขอให้จำเลยทั้งสองโอนที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสองแจ้งว่าไม่ประสงค์จะขายที่ดินให้โจทก์ตามสัญญา อ้างว่าจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์แล้ว โจทก์จึงได้แจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอหางดงบันทึกไว้เป็นหลักฐาน กับได้แจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอหางดง ตามรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีเอกสารท้ายฟ้องการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เนื่องจากโจทก์เข้าทำประโยชน์ จัดทำแบบแปลนแผนผังธุรกิจที่ดิน รังวัดแบ่งแยกเพื่อขายและมีบุคคลภายนอกมาขอซื้อที่ดินที่โจทก์จัดสรรแล้ว คำนวณกำไรเป็นเงินประมาณ24,000,000 บาท แต่โจทก์ขอคิดค่าเสียหายตามสัญญาเป็นเงิน21,990,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินโฉนดเลขที่ 1160ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1299 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบ้านจำนวน 3 หลังโดยปราศจากภาระติดพันแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง หากจำเลยทั้งสองไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 21,990,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ ให้จำเลยทั้งสองคืนเงินราคาที่ดิน 175,000 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531จำเลยทั้งสองทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินตามฟ้องให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2531 โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำสัญญาเพิ่มเติมสัญญาจะซื้อขายที่ดินฉบับแรกโดยระบุว่า โจทก์ต้องชำระราคาที่ดินให้ครบถ้วนภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 มิฉะนั้นโจทก์ยอมให้จำเลยทั้งสองริบเงินมัดจำและราคาที่ดินที่โจทก์ชำระเป็นงวด ๆสำหรับราคาที่ดินซึ่งแบ่งชำระเป็นงวดรวม 4 งวด นั้นหากโจทก์ผิดนัดไม่ชำระตามวันที่กำหนดในสัญญา โจทก์จะต้องเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราดอกเบี้ยของธนาคาร แต่เมื่อถึงกำหนดชำระราคาที่ดินงวดแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2532 โจทก์ผิดนัดไม่ชำระ จำเลยทั้งสองบอกกล่าวทวงถามให้โจทก์ชำระราคาที่ดินงวดแรกจำนวน 1,815,000 บาท ภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2532 มิฉะนั้นถือว่าฝ่ายโจทก์ผิดสัญญา แต่โจทก์ไม่ชำระและมอบให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่า โจทก์ไม่ผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธินำเงินค่าที่ดินทั้ง 4 งวด ไปชำระให้จำเลยทั้งสองครั้งเดียวได้ในงวดสุดท้ายพร้อมดอกเบี้ย ต่อมาเมื่อถึงกำหนดชำระราคาที่ดินงวดที่ 2 ในวันที่ 30 มิถุนายน 2532 โจทก์ก็ไม่ชำระราคาที่ดินอีก จำเลยทั้งสองจึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาพร้อมกับริบเงินมัดจำที่โจทก์วางไว้70,000 บาท ต่อมาต้นเดือนธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองจึงได้รับหนังสือของทนายความโจทก์แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ย และไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ในวันที่ 15 ธันวาคม 2532 จำเลยทั้งสองจึงแจ้งให้โจทก์ทราบว่าโจทก์ผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วทั้งในวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ตามวันนัดที่โจทก์กำหนด โจทก์ก็มิได้นำแคชเชียร์เช็คสองฉบับตามฟ้องไปด้วย โดยโจทก์กับพวกสมคบกันทำแคชเชียร์เช็คสองฉบับและบันทึกถ้อยคำรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีขึ้นภายหลังจากฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ โจทก์ยังมิได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่จะซื้อทั้งสองแปลงดังกล่าวทั้งโจทก์ไม่ได้ทำแผนผังแบบแปลน มิได้ประกาศโฆษณาจัดสรรขายที่ดินที่จะซื้อแต่ประการใดโจทก์เพียงแต่เข้าไปไถคันนาถมบ่อปลา จนวน 3 ถึง 4 บ่อ ตัดฟันต้นไม้จำนวนหนึ่งรื้อรั้วบ้านของจำเลยทั้งสองบางส่วนออก ค่าเสียหายของโจทก์ไม่มากดังที่ฟ้องหากจะฟังว่าเสียหายก็ไม่เกิน 300,000 บาท ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดขอให้ยกฟ้อง
นางโสภา ลานคำ ยื่นคำร้องว่า โจทก์และผู้ร้องกับพวกเข้าหุ้นส่วนซื้อที่ดินพิพาทกัน โจทก์ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยทั้งสองในฐานะส่วนตัวและฐานะตัวแทนของผู้ร้องกับพวกด้วย จึงขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมโดยถือคำฟ้องของโจทก์เป็นคำฟ้องของผู้ร้องด้วย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้น พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ และ โจทก์ร่วม อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินตามโฉนดเลขที่ 1160 ระวางที่ดิน 5 ต. – 3 ฎ. เลขที่ดิน 54 ตำบลหนองควายงาน 55 อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวาโดยปลอภาระจำนอง และที่ดินตาม น.ส.3 ก. ทะเบียนเลขที่ 1299เลขที่ดิน 332 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา โดยปราศจากภาระติดพันเช่นเดียวกันหากจำเลยทั้งสองไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่สามารถจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 21,990,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และคืนเงิน175,000 บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนด(น.ส.4 ง.) เลขที่ 1160 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 55 ตารางวา ตามเอกสารหมายจ.2 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายปิงป้อง กีรติบาลผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3 ก.) เลขที่ 1299 ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 18 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา ตามเอกสารหมายจ.3 เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2531 จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโฉนด (น.ส.4 ง.) เลขที่ 1160 และที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1299ตำบลหนองควาย อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมบ้านไม้1 หลัง และบ้านบังกะโล 2 หลัง ให้แก่โจทก์ในราคา 7,330,000บาท วันทำสัญญาโจทก์วางมัดจำให้จำเลยทั้งสองไว้เป็นเงิน 70,000บาท เงินส่วนที่เหลือจะชำระเป็น 4 งวด งวดละ 1,815,000 บาทงวดแรกชำระวันที่ 31 มีนาคม 2532 งวดที่ 2 ชำระวันที่ 30มิถุนายน 2532 งวดที่ 3 ชำระวันที่ 30 กันยายน 2532 งวดที่ 4ชำระวันที่ 31 ธันวาคม 2532 และจำเลยทั้งสองจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จะขายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 ด้วย หากโจทก์ชำระราคาที่ดินไม่ทันตามกำหนด โจทก์ยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราของธนาคารให้แก่จำเลยทั้งสอง ถ้าโจทก์ผิดสัญญายอมให้จำเลยทั้งสองริบเงินมัดจำ แต่ถ้าจำเลยทั้งสองผิดสัญญา ยอมให้โจทก์ฟ้องศาลบังคับให้เป็นตามสัญญา และยอมใช้ค่าเสียหายให้โจทก์อีก 3 เท่าของราคาซื้อ ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำเอกสารหมาย จ.4 ต่อมาวันที่ 29 ธันวาคม 2531 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาเพิ่มเติมกัน โดยโจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 หากโจทก์ไม่ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้ครบถ้วนเสร็จสิ้น ให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา ยอมให้จำเลยทั้งสองริบเงินมัดจำและเงินค่าซื้อที่ดินที่ชำระเป็นงวด ๆ ได้อีกด้วย ตามข้อสัญญาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.5 ปรากฎว่าก่อนถึงกำหนดชำระเงินงวดแรก โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองไปอีกเป็นเงิน 105,000 บาท รวมกับเงินมัดจำ70,000 บาท เป็นเงินที่โจทก์ได้ชำระให้จำเลยทั้งสองไปแล้วจำนวน 175,000 บาท คงเหลือเงินค่าที่ดินที่โจทก์จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสองจำนวน 7,155,000 บาท ครั้นถึงกำหนดชำระเงินค่าที่ดินงวดแรกในวันที่ 31 มีนาคม 2532 โจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่างวดให้แก่จำเลยทั้งสอง วันที่ 15 มิถุนายน 2532 จำเลยทั้งสองได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้โจทก์นำเงินงวดแรกจำนวน 1,815,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปีไปชำระให้ครบถ้วนภายในวันที่ 23 มิถุนายน 2532 มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ประพฤติผิดสัญญา ตามเอกสารหมาย ล.1 โจทก์ได้รับหนังสือของทนายความจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่ได้ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองตามกำหนด และได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบว่า ตามสัญญาจะซื้อขายและข้อสัญญาเพิ่มเติมโจทก์ผู้จะซื้อจะผิดสัญญาก็ต่อเมื่อไม่ชำระเงินค่าซื้อที่ดินทั้ง 4 งวด พร้อมดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งสองผู้จะขายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 เท่านั้น ตามเอกสารหมาย ล.2 วันที่31 กรกฎาคม 2532 จำเลยทั้งสองจึงมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำไปยังโจทก์ ตามเอกสารหมาย ล.5โจทก์ได้รับหนังสือบอกเลิกสัญญาของทนายความจำเลยทั้งสองแล้วเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 ตามใบตอบรับเอกสารหมาย ล.6ต่อมาวันที่ 4 ธันวาคม 2532 โจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอหางดงในวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ตามเอกสารหมาย ล.8 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือของทนายความโจทก์แล้ว ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 13 ธันวาคม 2532 แจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแล้วตามเอกสารหมาย ล.9 และจำเลยทั้งสองไม่ได้ไปจดทะเบียนโอนที่ดินให้โจทก์ตามกำหนดนัด สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 1160 ตามเอกสารหมาย จ.2 ปรากฎว่าภายหลังจำเลยที่ 1ได้นำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัดต่อมาวันที่ 29 มิถุนายน 2533 โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า โจทก์หรือจำเลยทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายหรือสัญญาวางมัดจำ เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4ระบุว่า “ผู้จะซื้อยอมจ่ายเงินที่เหลือจากวางมัดจำแล้วเป็นเงิน7,260,000 บาท เป็น 4 งวด งวดละ 1,815,000 บาท โดยจะชำระงวดที่ 1 วันที่ 31 มีนาคม 2532 งวดที่ 2 วันที่ 30 มิถุนายน 2532งวดที่ 3 วันที่ 30 กันยายน 2532 งวดที่ 4 วันที่ 31 ธันวาคม 2532ถ้าจ่ายเงินไม่ทันตามกำหนดผู้จะซื้อยินยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้แก่ผู้จะขาย” และตามข้อสัญญาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.5 ข้อ 1 ระบุว่า “ผู้จะซื้อขอสัญญาเพิ่มเติมว่าผู้จะซื้อจะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31ธันวาคม 2532 หากผู้จะซื้อผิดสัญญา ไม่ชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้ครบถ้วนเสร็จสิ้น ให้ถือว่าผู้จะซื้อผิดสัญญา ผู้จะซื้อยอมให้ริบเงินมัดจำผู้จะซื้อยอมให้ผู้จะขายริบเงินค่าที่ดินที่ผู้จะซื้อชำระเป็นงวด ๆ ตามสัญญาข้อ 4 ได้อีกโสดหนึ่งด้วย”ตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายและข้อสัญญาเพิ่มเติมดังกล่าวแม้จะมีการกำหนดให้ชำระเงินเป็นงวด ๆ รวม 4 งวด โดยกำหนดวันชำระเงินแต่ละงวดไว้แน่นอนก็ตาม แต่สัญญาก็มีข้อความระบุว่าถ้าโจทก์จ่ายเงินในแต่ละงวดไม่ทันตามกำหนด โจทก์ยินยอมเสียดอกเบี้ยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารให้จำเลยทั้งสอง และโจทก์จะต้องชำระเงินค่าซื้อที่ดินให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม2532 หากโจทก์ชำระเงินค่าซื้อที่ดินไม่เสร็จภายในกำหนดดังกล่าวให้ถือว่าโจทก์ผิดสัญญา แสดงว่า ในการชำระเงินตามงวดที่ 1ถึงงวดที่ 3 คู่สัญญามิได้ถือเคร่งครัดว่าโจทก์จะต้องชำระเงินแต่ละงวดให้จำเลยตามกำหนดเวลาที่ระบุไว้ในสัญญา โดยคู่สัญญายอมให้โจทก์ชำระเงินแต่ละงวดล่าช้ากว่ากำหนดได้ เพียงแต่โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยให้จำเลยตามอัตราดอกเบี้ยของธนาคารคงมีแต่เฉพาะงวดที่ 4 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายเท่านั้นที่โจทก์จะต้องชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินทั้งหมดตามสัญญาพร้อมดอกเบี้ยให้จำเลยทั้งสองเนื่องจากการชำระเงินไม่ตรงตามงวด โดยโจทก์ต้องชำระให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 มิฉะนั้นถือว่าโจทก์ผิดสัญญาดังนั้น การที่โจทก์มิได้ชำระเงินในงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 ตามกำหนดเวลาจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ผิดสัญญา จำเลยทั้งสองจะบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เพราะเหตุนี้หาได้ไม่ และจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิที่จะกำหนดระยะเวลาขึ้นมาใหม่แล้วบอกกล่าวทำให้โจทก์ชำระเงินภายในระยะเวลานั้น โดยแจ้งว่าหากโจทก์ไม่ชำระเงินภายในระยะเวลาที่กำหนดถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา อันจะเป็นผลให้จำเลยทั้งสองมีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 ได้ เพราะหนังสือสัญญาจะซื้อขายและข้อสัญญาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5 ได้กำหนดเวลาชำระหนี้ทั้งหมดที่ค้างชำระไว้แน่นอนตายตัวแล้ว คือ ในวันที่ 31 ธันวาคม 2532การที่จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามโจทก์ให้ชำระเงินในงวดที่ 1 โดยกำหนดเวลาให้ชำระภายในวันที่ 23มิถุนายน 2532 ตามเอกสารหมาย ล.1 และโจทก์ได้รับหนังสือทวงถามของทนายความจำเลยทั้งสองแล้ว แต่โจทก์ไม่ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ก็ถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์เช่นนั้นการที่จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 31กรกฎาคม 2532 บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ตามเอกสารหมาย ล.3 จึงหาเป็นผลให้สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นอันเลิกกันไม่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสอง ตามเอกสาร จ.4 และ จ.5 ยังคงมีผลผูกพันต่อกันอยู่ แต่การที่จำเลยทั้งสองมอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์ทั้งที่โจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยทั้งสองไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่นนี้ พฤติการณ์แสดงว่าจำเลยทั้งสองไม่ถือเอาประโยชน์แห่งเงื่อนเวลา ตามหนังสือสัญญาจะซื้อจะขายและข้อสัญญาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.4 และ จ.5อีกต่อไป ดังนั้น กำหนดเวลาตามสัญญาที่ให้จำเลยทั้งสองไปโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2532 จึงถือว่าจำเลยทั้งสองได้สละประโยชน์แห่งเงื่อนเวลานั้นเสียแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 154 วรรคสอง เดิม (มาตรา 192 วรรคสองที่แก้ไขใหม่) เมื่อโจทก์ได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือลงวันที่ 4 ธันวาคม 2532 แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินตามสัญญาให้แก่โจทก์ ณ สำนักงานที่ดินอำเภอหางดง ในวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ตามเอกสารหมายล.8 จำเลยทั้งสองได้รับหนังสือของทนายความโจทก์แล้ว ไม่ไปรับเงินค่าที่ดินพร้อมดอกเบี้ยและโอนที่ดินให้แก่โจทก์ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว จำเลยทั้งสองจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไป โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองปฎิบัติตามสัญญาได้ คำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยที่ 2 อ้างในฎีกา ข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้
อย่างไรก็ตามสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองเป็นสัญญาต่างตอบแทนระหว่างกัน การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์ โดยไม่กำหนดให้โจทก์ชำระราคาที่ดินที่ค้างแก่จำเลยทั้งสองนั้น เป็นการไม่ชอบด้วยการชำระหนี้ตามสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 369 และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาให้โจทก์ชำระราคาที่ดินส่วนที่ค้างชำระแก่จำเลยทั้งสองได้
สำหรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น ตามทางพิจารณาไม่ได้ความจากการนำสืบของโจทก์และจำเลยทั้งสองว่า ในช่วงระยะเวลาที่ถึงกำหนดชำระเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 ถึงงวดที่ 3 นั้น ดอกเบี้ยของธนาคารมีอัตราร้อยละเท่าใด จึงกำหนดให้โจทก์เสียดอกเบี้ยให้แก่จำเลยทั้งสองอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 7 ปรากฎว่าหลังจากโจทก์วางเงินมัดจำ 70,000บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้ว โจทก์ได้ชำระเงินให้จำเลยทั้งสองเพิ่มเติมอีก 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 6ธันวาคม 2531 วันที่ 27 ธันวาคม 2531 และวันที่ 22 กุมภาพันธ์2532 รวมเป็นเงิน 105,000 บาท ตามเอกสารหมาย จ.6 ถึง จ.8เป็นการชำระเงินก่อนถึงกำหนดชำระเงินในงวดที่ 1 ดังนั้นโจทก์จึงคงค้างชำระเงินค่าที่ดินงวดที่ 1 แก่จำเลยทั้งสองเป็นเงิน1,710,000 บาท และงวดที่ 2 ถึงงวดที่ 4 อีกงวดละ 1,815,000บาท รวมแล้วโจทก์คงค้างชำระเงินค่าที่ดินแก่จำเลยทั้งสองเป็นเงินทั้งสิ้นจำนวน 7,155,000 บาท ซึ่งโจทก์ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยทั้งสองพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินที่ค้างชำระในแต่ละงวดนั้นตั้งแต่วันถัดจากวันครบกำหนดชำระค่าที่ดินในแต่ละงวดเป็นต้นไป
มีปัญญาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า ในกรณีที่ไม่อาจจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ได้ จำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เพียงใด เห็นว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินทั้งสองแปลงเพื่อนำมาจัดสรรเป็นหมู่บ้านถือได้ว่าเป็นโครงการใหญ่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากน่าเชื่อว่าหากทำโครงการสำเร็จโจทก์จะได้กำไรสูง ซึ่งโจทก์เองก็เบิกความว่าจะได้ผลกำไรไม่ต่ำกว่า 28,000,000 บาท ทั้งตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 ก็กำหนดค่าเสียหายไว้เป็นจำนวน 3 เท่าของราคาซื้อขาย คือ 21,990,000 บาท ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2กำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายใช้แทนในกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่อาจโอนที่ดินแก่โจทก์นั้นจึงชอบแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองในที่ดินตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์ชำระเงินค่าที่ดินที่ค้างจำนวน7,155,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินสำหรับงวดที่ 1 จำนวน 1,710,000 บาท นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2532และในต้นเงินสำหรับงวดที่ 2 และ 3 จำนวนงวดละ 1,815,000 บาทนับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2532 และวันที่ 1 ตุลาคม 2532 ตามลำดับ เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 15 ธันวาคม 2532 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยทั้งสองผิดสัญญาให้แก่จำเลยทั้งสอง นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2

Share