คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5793/2554

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 โดยอ้างเหตุเดียวกันว่า ขอถ่ายสำเนาคำพิพากษารวมทั้งบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและสั่งสำนวนในชั้นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสาร และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพราะเหตุดังกล่าวทั้งสี่ครั้งเป็นเวลานานถึง 5 เดือนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ ครั้งที่ 4 ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ว่า คำพิพากษาจัดพิมพ์เสร็จแล้ว แสดงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจัดพิมพ์เสร็จก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 แม้โจทก์จะมีระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หากโจทก์ในฐานะพนักงานอัยการจะไม่ยื่นอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนและคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้งให้ส่งสำนวนและความเห็นไปให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดตาม ป.วิ.อ. มาตรา 145 อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ของโจทก์ที่ว่า เสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณา ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 โดยเพิ่งอ้างเหตุดังกล่าว แสดงว่า เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสารในสำนวนแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์คดีนี้ตามกฎหมายทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้อง

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยอ่านคำพิพากษาให้คู่ความฟังเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2551 ต่อมาวันที่ 13 มกราคม 2552 วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 วันที่ 13 มีนาคม 2552 และวันที่ 9 เมษายน 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ โดยอ้างเหตุทำนองเดียวกันว่าโจทก์ยื่นคำร้องขอถ่ายสำเนาคำพิพากษารวมทั้งบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและสั่งสำนวนในชั้นอุทธรณ์แต่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสาร ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ต่อมาวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์มีกำหนด 30 วัน อ้างว่าโจทก์เสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า คำร้องไม่ปรากฏพฤติการณ์พิเศษ ยกคำร้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า มีเหตุที่จะอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 1 ถึงครั้งที่ 4 โดยอ้างเหตุเดียวกันว่า ขอถ่ายสำเนาคำพิพากษารวมทั้งบรรดาสรรพเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาและสั่งสำนวนในชั้นอุทธรณ์ แต่ยังไม่ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสาร และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ขยายระยะเวลาอุทธรณ์เพราะเหตุดังกล่าวทั้งสี่ครั้งเป็นเวลานานถึง 5 เดือนก็ตาม แต่ข้อเท็จจริงปรากฏตามคำสั่งของศาลชั้นต้นในคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ของโจทก์ ครั้งที่ 4 ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2552 ว่า คำพิพากษาจัดพิมพ์เสร็จแล้ว แสดงว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นเพิ่งจัดพิมพ์เสร็จก่อนโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 แม้โจทก์จะมีระยะเวลายื่นอุทธรณ์ตามที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 4 จนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2552 ก็ตาม แต่คดีนี้ศาลชั้นต้นยกฟ้อง หากโจทก์ในฐานะพนักงานอัยการจะไม่ยื่นอุทธรณ์ต้องส่งสำนวนและคำสั่งไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กรณีผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีความเห็นแย้งให้ส่งสำนวนและความเห็นไปให้อัยการสูงสุดเพื่อชี้ขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145 อันเป็นการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร ซึ่งสอดคล้องกับเหตุผลตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 ของโจทก์ที่ว่า เสนอสำนวนให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา แต่ยังไม่ทราบผลการพิจารณา ทั้งโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ 5 โดยเพิ่งอ้างเหตุดังกล่าว แสดงว่า เมื่อโจทก์ได้รับสำเนาคำพิพากษาและสรรพเอกสารในสำนวนแล้ว โจทก์ได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุทธรณ์คดีนี้ตามกฎหมายทันที ตามรูปคดีนับว่ามีพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุอันควรขยายระยะเวลาอุทธรณ์ให้โจทก์ตามคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์แก่โจทก์มีกำหนด 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้โจทก์ฟัง และให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย

Share