คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 579/2518

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่จะเป็นความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น มิใช่ว่าเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้วก็เกิดเป็นความผิดเสมอไปกรณีจะต้องปรากฏด้วยว่าเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น จำเลยได้ออกด้วยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คด้วยเจตนาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิดดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ในวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คหรือวันออกเช็คจำเลยเป็นเจ้าหนี้ธนาคารอยู่เป็นจำนวนเงินสูงกว่าจำนวนเงินตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่ายซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด(อ้างฎีกาที่ 259/2513)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คลงวันที่ 24 ตุลาคม 2516สั่งจ่ายเงิน 261,950 บาท ลงชื่อจำเลยที่ 2 เป็นผู้สั่งจ่าย ประทับตราของจำเลยที่ 1(นิติบุคคล) มอบให้โจทก์เป็นการชำระหนี้ โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาจ่ายเช็คดังกล่าวที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น และเป็นการออกเช็คใช้เงินจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีของจำเลยที่ 1 ในธนาคาร ครั้นถึงกำหนดสั่งจ่ายแล้ว เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2516 ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจบริษัทโจทก์ได้นำเช็คเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน อ้างว่า “โปรดติดต่อผู้สั่งจ่าย”ซึ่งหมายความว่าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่ายตามเช็ค โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระ ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3

ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์แจ้งความเรื่องนี้มุ่งถึงห้างหุ้นส่วนจำกัดเจริญยนต์ คือจำเลยที่ 1 และการซื้อขายก็มีอยู่ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 จึงเป็นเรื่องระหว่างบริษัทโจทก์กับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 เป็นผู้จัดการหาต้องรับผิดเป็นส่วนตัว เช็คลงวันที่สั่งจ่าย 24 ตุลาคม 2516 แต่โจทก์เพิ่งไปเรียกเก็บเงินเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2516 ปรากฏว่า จำเลยที่ 1 มียอดเงินในบัญชีเพียงสิ้นวันที่ 24 ตุลาคม 2516 เป็นเจ้าหนี้ธนาคารที่จำเลยฝากอยู่ 262,821.26 บาท เกินกว่าที่จะต้องชำระให้โจทก์ หากโจทก์เรียกเก็บเงินในเวลาอันควรก็น่าจะได้รับเงินตามเช็คนี้ เหตุที่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินตามเช็คจึงไม่ใช่เกิดจากจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาจะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้นหรือออกเช็คใช้เงินจำนวนสูงกว่าที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีของจำเลย คดีโจทก์ไม่มีมูลทางอาญา พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายมีใจความว่า การออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3(1) นั้น เมื่อได้มีการนำเช็คไปขึ้นต่อธนาคารและธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ก็เป็นความผิดแล้ว โดยมิต้องคำนึงว่าในวันที่ออกเช็ค จำเลยมีเงินอยู่ในบัญชีพอจ่ายหรือไม่

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่จะเป็นความผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค มิใช่ว่าเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ก็เกิดเป็นความผิดเสมอไป กรณีจะต้องปรากฏด้วยว่าเช็คที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินนั้น จำเลยได้ออกด้วยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คด้วย เจตนาดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ดังนั้น เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์วินิจฉัยฟังข้อเท็จจริงแล้วว่า ในวันที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คหรือวันออกเช็ค คือวันที่ 24ตุลาคม 2516 จำเลยเป็นเจ้าหนี้ธนาคารอยู่เป็นจำนวน 262,821.26 บาท สูงกว่าจำนวนเงิน 261,950 บาท ตามเช็คที่จำเลยสั่งจ่าย ซึ่งถือไม่ได้ว่าจำเลยออกเช็คโดยมีเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็คนั้น เช่นนี้ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดเทียบได้กับคำพิพากษาฎีกาที่ 259/2513 ระหว่างพนักงานอัยการ กรมอัยการ โจทก์ นายวิภาต ฉิมมณี โจทก์ร่วม นางลิลิต สาระคุณ จำเลย

พิพากษายืน

Share