แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมของพระภิกษุ ส.ผู้มรณณะ ระบุไว้ว่า บรรดาเงินที่ข้าพเจ้ามีอยู่ในขณะนี้และที่จะมีขึ้นหรือได้มาในอนาคตซึ่งได้ฝากไว้ที่ธนาคาร ก. ข.และ ค. เงินทั้งนี้ข้าพเจ้าขอยกให้แก่จำเลยศิษย์ของข้าพเจ้าแต่เพียงผู้เดียว แต่ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวนี้ไม่ปรากฏสมุดฝากเงินบัญชีเลขที่ 5106 และ 5459ที่พิพาทซึ่งเป็นเงินส่วนตัวของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะ และพินัยกรรมฉบับนี้ทำขึ้นก่อนที่ผู้มรณะจะมีเงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนั้น ข้อกำหนดพินัยกรรมดังกล่าวจึงไม่มีผลบังคับถึงเงินในบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีนี้
จดหมายของพระภิกษุ ส.ผู้มรณะฉบับแรกเป็นจดหมายธรรรมดาที่ผู้มรณะเขียนถึงจำเลย ตอนท้ายของจดหมายมีข้อความเพิ่มเติมเตือนให้จำเลยไปลงชื่อในสมุดฝากเงินที่ผู้มรณะฝากไว้ ไม่มีการสั่งการกำหนดการเผื่อตายที่จะเข้าแบบเป็นพินัยกรรม จึงไม่ใช่พินัยกรรม
ส่วนจดหมายฉบับที่สองมีข้อความว่า ลูกหมอ (จำเลย)ที่รักเวลานี้พ่อหลวง(พระภิกษุ ส.) ป่วยจะตายวันนี้หรือพรุ่งนี้ยังรู้ไม่ได้เลย พ่อหลวงเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ ถ้าพ่อหลวงสิ้นลมหายใจลง โดยไม่มีหลักฐานอะไร เงินตกเป็นสงฆ์หมด พ่อหลวงไม่อยากให้เป็นของคนอื่น อยากให้เป็นของลูกหมอคนเดียว แต่ในสมุดเงินฝากต้องลงชื่อลูกหมอเบิกได้คนเดียว จึงจะเป็นหลักฐานมั่นคง สงกรานต์ปีนี้ ขอให้ลูกหมอไปลงชื่อในสมุดฝากให้จงได้ ถ้าไม่ไปจะเสียใจภายหลัง ฯลฯ จดหมายของผู้มรณะฉบับที่สองนี้เป็นเรื่องที่ผู้มรณะแจ้งให้จำเลยไปลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงินธนาคารแม้ในตอนต้นของจดหมายได้มีข้อความว่า ผู้มรณะเป็นห่วงเรื่องเงินที่ฝากธนาคารไว้ผู้มรณะไม่อยากให้เป็นของคนอื่นก็ตาม แต่ผู้มรณะก็เพียงแต่เขียนแสดงความรู้สึกในใจว่า อยากให้เป็นของจำเลยคนเดียวเท่านั้น การที่พระภิกษุ ส.ใช้วิธีให้จำเลยมาลงตัวอย่างลายมือชื่อเพื่อให้จำเลยมีสิทธิเบิกเงินจากสมุดฝากเงินแสดงว่าผู้มรณะยังไม่ได้ยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลยในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ และข้อความที่ผู้มรณะเขียนไว้เช่นนี้ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นพินัยกรรมที่ผู้มรณะยกเงินในบัญชีพิพาทให้แก่จำเลย เมื่อผู้มรณะได้ถึงแก่มรณภาพขณะเป็นพระภิกษุ เงินตามบัญชีพิพาททั้งสองบัญชีซึ่งเป็นทรัพย์ของผู้มรณะที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศจึงตกเป็นของวัดโจทก์ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของผู้มรณะตามป.พ.พ.มาตรา 1623