คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5788/2562

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อก่อนวันที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตาม พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 กำหนดให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด หากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้มาตรา 686 ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ภายหลังที่พระราชบัญญัติฯ ใช้บังคับแล้ว และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวและบอกเลิกสัญญาไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัด แต่การส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดี หากไม่ส่งมอบหรือส่งมอบคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าเสียหายแทนเป็นเงิน 330,000 บาท ให้ใช้ค่าเสียหายเป็นค่าใช้สอยรถยนต์ 72,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ค่าเสียหายแทนแล้วเสร็จและจนกว่าจะชำระค่าใช้สอยรถยนต์แล้วเสร็จ กับให้ชำระค่าเสียหายในอัตราเดือนละ 9,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จนแล้วเสร็จ
จำเลยทั้งสองให้การขอให้พิพากษาลดยอดหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยทั้งสองใช้ราคาแทนเป็นเงิน 284,000 บาท และค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ 32,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 32,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 2 ให้ร่วมชำระค่าขาดประโยชน์กับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน 8,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์อีกเดือนละ 4,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 เมษายน 2559) จนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 6,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภค พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถที่เช่าซื้อคืนโจทก์ หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 200,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 24,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 24,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และชำระค่าขาดประโยชน์เดือนละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนจนเสร็จแต่ไม่เกิน 6 เดือน กับให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ชำระค่าขาดประโยชน์ 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเป็นเงิน 6,000 บาท แก่โจทก์ ยกคำขอตามฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้คืนค่าส่งคำคู่ความชั้นอุทธรณ์ 350 บาท แก่จำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์หมายเลขทะเบียน ธน 1414 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ในราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 572,052.48 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเดือนละ 11,917.76 บาท กับภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 834.24 บาท รวม 48 งวด กำหนดชำระภายในวันที่ 1 ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 ตุลาคม 2556 โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม แต่จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อเพียง 21 งวดเศษ เป็นเงิน 250,559.36 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 22 ประจำวันที่ 1 กรกฎาคม 2558 เป็นต้นมา โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 2 ตุลาคม 2558 บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองชำระค่าเช่าซื้อที่ค้างภายใน 30 วัน แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย วันที่ 16 พฤศจิกายน 2558 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญากับจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือดังกล่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2558 จากนั้นวันที่ 1 ธันวาคม 2558 โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวเรื่องผู้เช่าซื้อผิดนัดให้จำเลยที่ 2 ทราบและให้ชำระหนี้ จำเลยที่ 2 ได้รับหนังสือดังกล่าววันที่ 8 ธันวาคม 2558
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 จะต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681/1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 บัญญัติให้ข้อตกลงที่กำหนดให้ผู้ค้ำประกันต้องรับผิดอย่างเดียวกับลูกหนี้ร่วม หรือในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมตกเป็นโมฆะ แต่มาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวบัญญัติว่า บทบัญญัติของพระราชบัญญัตินี้ไม่กระทบกระเทือนสัญญาที่ได้ทำไว้ก่อนที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เว้นแต่กรณีที่พระราชบัญญัตินี้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการชำระหนี้และการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2556 ก่อนวันที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับ โดยพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวไม่ได้บัญญัติถึงการใช้บังคับมาตรา 681/1 ไว้เป็นอย่างอื่น ข้อสัญญาข้อ 1 ที่กำหนดให้จำเลยที่ 2 รับผิดกับจำเลยที่ 1 ผู้เช่าซื้อในฐานะเป็นลูกหนี้ร่วมจึงใช้บังคับได้ ไม่ตกเป็นโมฆะ ส่วนมาตรา 686 ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ที่บัญญัติให้เจ้าหนี้ต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันก่อนใช้สิทธิเรียกให้ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และหากเจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลา 60 วัน นับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด ให้ผู้ค้ำประกันเป็นอันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้บรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวนั้น มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ใช้บังคับนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2558 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ 20) พ.ศ.2557 ใช้บังคับแล้ว กรณีจึงต้องด้วยมาตรา 686 และเมื่อความปรากฏต่อไปว่า ก่อนฟ้องโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้ชำระหนี้ค่าเช่าซื้อ และบอกกล่าวเรื่องผู้เช่าซื้อผิดนัดไปยังจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันได้ แม้จะเป็นการบอกกล่าวล่วงพ้นกำหนด 60 วัน นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดก็ตาม และโดยที่หน้าที่ในการส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์กรณีที่สัญญาเช่าซื้อเลิกกันนั้นเป็นหนี้ประธาน มิใช่ดอกเบี้ย ค่าสินไหมทดแทน หรือค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ จำเลยที่ 2 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกคำขอตามฟ้องโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเฉพาะปัญหาว่าจำเลยที่ 2 ต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 200,000 บาท แก่โจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาเพียง 200 บาท การที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 6,320 บาท ย่อมไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท ให้แก่โจทก์
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ให้จำเลยที่ 2 ร่วมใช้ราคาแทน 200,000 บาท ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 แผนกคดีผู้บริโภค คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share