แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม ป.อ. มาตรา 92 ไม่ได้บัญญัติว่า ความผิดครั้งหลังจะต้องเป็นความผิดอย่างเดียวกันกับความผิดครั้งแรก เมื่อจำเลยกระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนและฐานพาอาวุธปืนเป็นคดีนี้ภายใน 5 ปีนับแต่วันพ้นโทษในคดีความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้ความผิดคดีนี้จะมิใช่ความผิดเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ก็อยู่ในหลักเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 92, 371 และก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก 9 เดือน ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2209/2545 ของศาลชั้นต้น เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2545 จึงขอให้เพิ่มโทษจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ และรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์อ้างเป็นเหตุขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมาย มาตรา 371 เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีอาวุธปืน (ที่ถูก และเครื่องกระสุนปืน) ไว้ในความครอบครอง จำคุก 6 เดือน ฐานพาอาวุธปืนเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 เป็นจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวมจำคุก 16 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 8 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยฎีกาว่าจำเลยเคยต้องโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง และในเวลา 5 ปี นับแต่พ้นโทษจำเลยได้กลับมากระทำความผิดอีก ความผิดที่จำเลยกระทำมิใช่ความผิดเดียวกันกับที่เคยได้รับโทษ จะถือว่าจำเลยกลับมากระทำความผิดอีก อันเป็นเหตุให้ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ไม่ได้นั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 บัญญัติว่า “ผู้ใดต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุก ถ้าและได้กระทำความผิดใด ๆ อีกในระหว่างที่ยังจะต้องรับโทษอยู่ก็ดี ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษก็ดี หากศาลจะพิพากษาลงโทษครั้งหลังถึงจำคุกก็ให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้นั้นหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง” บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวมิได้กำหนดว่า ความผิดครั้งหลังจะต้องเป็นความผิดเดียวกันกับความผิดครั้งแรก เมื่อจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ภายใน 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แม้ความผิดคดีนี้จะมิใช่ความผิดเดียวกันกับความผิดดังกล่าว ก็อยู่ในเกณฑ์ตามกฎหมายที่ศาลจะเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดในคดีนี้ได้ ดังนั้น ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสามของโทษที่ศาลกำหนดในความผิดตามฟ้องทั้งสองฐานจึงชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.