คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5783/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ลูกหนี้เพียงมีชื่อในโฉนดในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเท่านั้น แม้ลูกหนี้เอาที่พิพาทไปจำนองแล้วไม่ยอมไถ่ถอนก็ตาม ผู้ร้องก็มีสิทธิ์ที่จะไถ่ถอนเองได้เมื่อไถ่ถอนแล้วก็ชอบที่จะเรียกให้ลูกหนี้ชดใช้ค่าไถ่ถอนได้ การที่ผู้ร้องได้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองไว้แล้วในสาขาคดีขอรับชำระหนี้แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาจะใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองเอง และในสาขาคดีขอรับชำระหนี้ ศาลได้พิพากษาแล้วว่า หากผู้ร้องไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเป็นเงินเท่าใด ก็ให้ได้รับชำระหนี้เป็นเงินเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง แต่ให้ได้รับชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองคืนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ จึงไม่ชอบที่ผู้ร้องจะขอให้ศาลพิพากษาในคดีนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาท หรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนอง ศาลคงพิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนที่ดินพิพาทใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เท่านั้น

ย่อยาว

คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและพิพากษาให้ลูกหนี้ล้มละลาย
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเช่าซื้อที่ดิน ๒ แปลง โฉนดเลขที่ ๘๐๑๔๗, ๘๐๑๗๓ โดยให้ลูกหนี้ที่ ๑ ดำเนินการแทน แต่ลูกหนี้ที่ ๑ กลับโอนที่ดินใส่ชื่อลูกหนี้ที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เสียเอง แล้วนำไปจำนองไว้กับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เพื่อนำเงินมาทำการค้า และลูกหนี้ที่ ๑ รับจะไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์คืนแก่ผู้ร้องภายใน ๑ ปี เมื่อลูกหนี้ที่ ๑ ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดผู้ร้องจึงขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ทำการไถ่ถอนจำนองและโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้ร้อง เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้อง คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๒๒ ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัยพ์หรือผู้ร้องทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว และโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป หากผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง ขอให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยื่นคำคัดค้านว่าที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ที่ ๑ ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งแก้คำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นว่าให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ร้องทำการไถ่ถอนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๔๗ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร เนื้อที่ ๔๔ ตารางวา และโอนใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป หากผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเองก็ให้กองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ ชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองนั้นหรือขอใช้ราคาที่ดินจำนวน ๔๔,๐๕๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง (วันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๒๘) ไปจนกว่าจะชำระหนี้เสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนที่ดินโฉนดเลขที่ ๘๐๑๔๗ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่อไป โดยไม่ต้องไถ่ถอนจำนองหรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือใช้ราคาที่ดินพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่ผู้ร้อง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้ร้องและเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องได้เช่าซื้อที่พิพาทจากสหกรณ์ออมทรัพย์ข้าราชการกรมการปกครอง จำกัด โดยรับโอนสิทธิเช่าซื้อมาจากลูกหนี้ที่ ๑ และเมื่อผู้ร้องชำระค่าเช่าซื้อครบแล้วได้รับโอนกรรมสิทธิ์มาเป็นของผู้ร้อง โดยให้ใส่ชื่อลูกหนี้ที่ ๑ ไว้ในโฉนดแทนเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ ๑ ให้นำโฉนดไปเป็นหลักประกันในการหาเงินมาทำการค้า ทั้งนี้โดยลูกหนี้ที่ ๑ ได้ทำหนังสือยืนยันมอบไว้แก่ผู้ร้องว่ากรรมสิทธิ์ในที่พิพาทเป็นของผู้ร้อง และจะไถ่ถอนจำนองแล้วโอนคืนให้แก่ผู้ร้องภายใน ๑ ปี ที่ผู้ร้องฎีกาขอให้บังคับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไถ่ถอนจำนองนั้น เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ร้อง ลูกหนี้ที่ ๑ เป็นเพียงผู้มีชื่อในโฉนดในฐานะผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนเช่นนี้ แม้ลูกหนี้ที่ ๑ จะเอาที่พิพาทไปจำนองแล้วไม่ยอมไถ่ถอนก็ตาม ผู้ร้องในฐานะเจ้าของทรัพย์สินที่จำนองก็มีสิทธิที่จะไถ่ถอนจำนองเองได้ ซึ่งหากได้ไถ่ถอนจำนองเองแล้วก็ชอบที่จะเรียกให้ลูกหนี้ที่ ๑ ชดใช้ค่าไถ่ถอนได้ และในเมื่อผู้ร้องได้ไถ่ถอนเองเสร็จแล้ว จำนองก็ย่อมระงับไปจะบังคับให้ลูกหนี้ที่ ๑ ทำการไถ่ถอนจำนองซ้ำอีกย่อมไม่ได้ กรณีเรื่องนี้ปรากฏว่าผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ได้ขอรับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองที่พิพาทไว้แล้วในสาขาคดีขอรับชำระหนี้ ดังปรากฏตามคดีหมายเลขดำที่ ล.๗๑/๒๕๓๒ ของศาลฎีกา แสดงว่าผู้ร้องมีเจตนาจะใช้สิทธิไถ่ถอนจำนองเอง และในสาขาคดีดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาแล้วว่า หากผู้ร้องไถ่ถอนจำนองที่พิพาทเป็นเงินจำนวนเท่าใด ก็ให้ได้รับชำระหนี้ค่าไถ่ถอนจำนองจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ เป็นเงินจำนวนเท่านั้น ซึ่งเท่ากับเป็นการพิพากษาให้ผู้ร้องเป็นผู้ไถ่ถอนจำนองเอง แต่ให้ได้รับชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองคืนจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้ที่ ๑ นั่นเอง หากศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาในสาขาคดีนี้ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้ไถ่ถอนจำนองที่พิพาทหรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนอง คำพิพากษาในสาขาคดีทั้งสองนี้ก็จะขัดกัน จึงไม่ชอบที่ผู้ร้องจะขอให้พิพากษาเช่นนั้นที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โอนที่ดิน โฉนดเลขที่ ๘๐๑๙๗ ตำบลลาดยาว อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร ใส่ชื่อผู้ร้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์โดยไม่ต้องไถ่ถอนจำนอง หรือชดใช้ค่าไถ่ถอนจำนองหรือใช้ราคาที่ดินพร้อมดอกเบี้ยแก่ผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเกินฟ้องด้วยในผล
พิพากษายืน

Share