แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
กรมทางหลวงจำเลยขุดดินมากองไว้บนถนนทางหลวงที่ใช้สำหรับยวดยานพาหนะผ่านไปมาในลักษณะกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของผู้ตายโดยเพิ่งขุดกองไว้ในวันเกิดเหตุแต่มิได้ติดตั้งป้ายสัญญาณหรือไฟสัญญาณเตือนให้ผู้ขับยวดยานพาหนะผ่านไปมาทราบว่ามีกองกินอยู่ข้างหน้าจำเลยย่อมคาดได้แต่แรกว่าหากไม่มีป้ายสัญญาณและไฟสัญญาณในเวลากลางคืนให้เห็นชัดเจนแล้วก็อาจเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากกองดินดังกล่าวได้โดยง่ายเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างมากการที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถของตนในเวลากลางคืนด้วยความเร็วธรรมดาโดยไม่มีโอกาสเห็นกองดินที่จำเลยดำเนินการขุดไว้ข้างหน้าตามสมควรจนทำให้รถผู้ตายชนกองดินดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลยจำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ แม้โจทก์จะได้รับเงินทำบุญในการจัดงานศพก็ถือว่าเป็นเงินที่ให้แก่กันตามประเพณีในสังคมจึงเป็นคนละส่วนกันค่าใช้จ่ายในการปลงศพไม่อาจนำมาหักออกจากค่าปลงศพที่โจทก์ได้จ่ายไปจริงเพื่อลดภาระหนี้ที่จำเลยทำละเมิดได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นมารดาของนายเกียรติพันธ์ แน่นอนจำเลยเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย มีหน้าที่ก่อสร้างซ่อมแซมและบำรุงทางหลวง วันที่ 31 มีนาคม 2532 เวลาประมาณ 23 นาฬิกานายเกียรติพันธ์ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนกรุงเทพมหานคร 7ง-0048 จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีไปตามถนนสายสุราษฎร์-พุนพิน ถึงหลักกิโลเมตรที่ 6 ได้ชนกองดินซึ่งกองอยู่บนถนนดังกล่าว เป็นเหตุให้รถล้มลงและนายเกียรติพันธ์ถึงแก่ความตาย ทั้งนี้เป็นเพราะความประมาทเลินเล่อปราศจากความระมัดระวังของจำเลยผู้ดำเนินการก่อสร้างถนนโดยจำเลยนำดินไปกองไว้บนถนนในเวลากลางคืนไม่ได้ติดตั้งเครื่องหมายหรือสัญญาณไฟหรือสิ่งอื่นใดให้ผู้ใช้ถนนทราบในระหว่างทำการก่อสร้างและซ่อมแซมถนนเพื่อป้องกันอุบัติเหตุอันอาจเกิดขึ้นได้ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย รวมค่าเสียหาย 1,097,300 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,097,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากต้นเงิน 77,300 บาทนับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่มารดาของนายเกียรติพันธ์ผู้ตายจำเลยไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อ อุบัติเหตุเกิดจากความประมาทของผู้ตายระหว่างดำเนินการก่อสร้างทางสายสุราษฎร์-พุนพินจำเลยได้ติดตั้งสัญญาณและเครื่องหมายแจ้งเตือนบอกเหตุแก่ผู้ขับยานพาหนะเป็นระยะ ๆ ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนโจทก์ไม่ได้รับความเสียหายตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้ค่าสินไหมทดแทนให้โจทก์รวม 230,000 บาท โดยค่าปลงศพ 50,000 บาท นั้นให้จำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์เป็นมารดาของนายเกียรติพันธ์ แน่นอน ผู้ตาย เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2532 เวลา ประมาณ 24 นาฬิกา ถึง 1 นาฬิกาของวันใหม่ ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์จากอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีไปตามถนนสายสุราษฎร์-พุนพิน มาถึงหลักกิโลเมตรที่ 6ก็เกิดเหตุรถผู้ตายชนกองดินที่จำเลยดำเนินการขุดขึ้นมา กองไว้บนช่องเดินรถในโครงการก่อสร้างขยายถนน เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกมีว่า เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยดำเนินการขุดดินที่เกิดเหตุมา กอง ไว้บนถนนทางหลวงที่ใช้สำหรับยวดยานพาหนะผ่านไปมาโดยกองไว้ในลักษณะกีดขวางการจราจรในช่องเดินรถของผู้ตายโดยเพิ่งขุดกองไว้ในวันเกิดเหตุ แต่มิได้ติดตั้งป้ายสัญญาณหรือไฟสัญญาณเตือนให้ผู้ขับยวดยานพาหนะผ่านไปมาทราบว่ามีกองดินอยู่ข้างหน้า จำเลยย่อมคาดได้แต่แรกว่าหากไม่มีป้ายสัญญาณและไฟสัญญาณในเวลากลางคืนให้เห็นชัดเจนแล้วก็อาจเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับความเสียหายจากกองดินดังกล่าวได้โดยง่าย ดังจะเห็นได้ว่าเพียงวันแรกที่จำเลยดำเนินการขุดดินที่เกิดเหตุขึ้นมา กอง ไว้ก็เกิดเหตุคดีนี้แล้ว การที่จำเลยมิได้ติดตั้งป้ายสัญญาณและไฟสัญญาณให้ทราบว่ามีกองดินที่เกิดเหตุอยู่ข้างหน้าเช่นนี้เป็นการประมาทเลินเล่ออย่างมากการที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ในช่องเดินรถของตนในเวลากลางคืนด้วยความเร็วธรรมดาโดยไม่มีโอกาสเห็นกองดินที่จำเลยดำเนินการขุดไว้ข้างหน้าตามสมควรจนทำให้รถผู้ตายชนกองดินดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากการประมาทเลินเล่อของจำเลย จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อสุดท้ายมีว่าค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับมีเพียงใด จำเลยฎีกาประการแรกว่าค่าปลงศพ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดให้โจทก์ 50,000 บาท นั้นสูงเกินไปเพราะโจทก์ได้รับเงินทำบุญมากกว่าเงินที่โจทก์ใช้จ่ายมาก เห็นว่า ฎีกาจำเลยมิได้โต้ถียง จำนวนเงินค่าปลงศพที่โจทก์ได้จ่ายไปและไม่ปรากฏว่าเงินทำบุญที่โจทก์ได้รับมีจำนวนเท่าใด แม้โจทก์จะได้รับเงินทำบุญมาก็เห็นได้ว่าเป็นเงินที่ให้แก่กันตามประเพณีในสังคมจึงเป็นคนละส่วนกับค่าใช้จ่ายในการปลงศพ ไม่อาจนำมาหักออกจากค่าปลงศพที่โจทก์ได้จ่ายไปจริงเพื่อลดภาระหนี้ที่จำเลยทำละเมิดได้ ค่าปลงศพที่ศาลอุทธรณ์กำหนดมาจึงเป็นจำนวนที่สมควร ส่วนค่าขาดไร้อุปการะวินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่าที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 กำหนดค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมายให้แก่โจทก์เดือนละ 1,500 บาท เป็นเวลา 10 ปี เป็นเงิน180,000 บาท จึงเป็นจำนวนที่สมควรแล้ว
พิพากษายืน