คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5781/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในขณะที่โจทก์กำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.ครั้งแรก เมื่อวันที่1 มกราคม 2528 และครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2529 พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมป.รัษฎากร (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2529 มาตรา 25 ซึ่งให้เพิ่มมาตรา 86 เบญจ ที่ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำของผู้ประกอบการค้าบางประเภทไว้ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจ แห่ง ป.รัษฎากร ยังไม่ได้ใช้บังคับ ดังนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินของโจทก์กำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.ทั้งสองครั้งดังกล่าวจึงเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ป.รัษฎากร มาตรา 87 (2) และมาตรา 87 ทวิ (7) บัญญัติให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจกำหนดรายรับของผู้ประกอบการค้าที่ยื่นแบบแสดงรายการการค้าไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดทำให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียคลาดเคลื่อนไป ซึ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้ประกอบการค้าชำระภาษีการค้าในเดือนภาษีที่ล่วงมาแล้วหรือในเดือนภาษีที่ถึงกำหนดชำระไม่ถูกต้อง และต่อมาเจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบพบในภายหลังเจ้าพนักงานจึงมีอำนาจกำหนดรายรับขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 87 ทวิ (7) เพื่อใช้เป็นฐานในการประเมินภาษีการค้ามิใช่เป็นบทบัญญัติให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีการค้าในเดือนภาษีที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะต้องยื่นแบบแสดงรายการการค้า
ผ.แสดงรายรับและเสียภาษีการค้าต่ำกว่ารายรับและภาษีขั้นต่ำที่ฝ่ายสำรวจและกำหนดรายรับของโจทก์ได้กำหนดไว้ มิใช่ ผ.ไม่เคยแจ้งรายจ่ายตามแบบ ภ.ค.45 แก่เจ้าพนักงานประเมิน ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินจะมีอำนาจกำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.โดยนำเอารายรับขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ในครั้งที่ 2บวกอีกร้อยละ 20 แล้วนำผลลัพธ์ที่ได้มากำหนดรายรับขั้นต่ำในครั้งที่ 3 ตามข้อ 4(1) (ก) แห่งประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีการค้า (ฉบับที่ 38) เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการกำหนดรายรับขั้นต่ำตามมาตรา 86 เบญจแห่ง ป.รัษฎากร ทั้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำของ ผ.ในครั้งที่ 3 ได้กำหนดโดยนำเอารายรับขั้นต่ำที่เคยกำหนดไว้ในครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นการกำหนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายมาเป็นฐานในการพิจารณา จึงต้องถือว่าการกำหนดรายรับขั้นต่ำในครั้งที่ 3เป็นการกำหนดโดยมิชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
การที่ ผ.ได้รับแจ้งการกำหนดรายรับขั้นต่ำไว้ล่วงหน้าจากเจ้าพนักงานประเมินแล้วไม่เคยโต้แย้งคัดค้าน ยังถือไม่ได้ว่า ผ.ยอมรับการกำหนดรายรับขั้นต่ำดังกล่าว ทั้งเมื่อการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการประเมินโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผ.จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าภาษีอากรแก่โจทก์โดยไม่ต้องโต้แย้งคัดค้านและอุทธรณ์การประเมินแต่อย่างใด ดังนั้น จำเลยทั้งสามในฐานะทายาทของ ผ.ผู้ตายจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์

Share