แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการครูในสังกัดของโจทก์ ได้รับอนุญาตให้ลาศึกษาต่อ โดยทำสัญญากับโจทก์ว่า เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจำเลยที่ 1 ต้องทำงานชดใช้ตามระยะเวลาที่กำหนด มิฉะนั้นจะต้องชดใช้เบี้ยปรับ ดังนี้ แม้จำเลยที่ 1 จะมาช่วยสอนในระหว่างที่ได้รับอนุญาตให้ลา ก็จะนำเวลาที่มาช่วยสอนมาคิดหักออกจากเวลาที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติราชการชดใช้หลังจากครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อโดยมีข้อตกลงว่าเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะต้องกลับมารับราชการต่อแต่จำเลยไม่ปฏิบัติจึงต้องใช้เบี้ยปรับตามสัญญาซึ่งมีจำเลยที่ 2,ที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามรับผิด จำเลยให้การว่าได้ปฏิบัติราชการชดใช้ 2 เท่าครบตามสัญญาแล้ว ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นว่าจำเลยที่ 1 ในระหว่างรับราชการสังกัดกรมสามัญศึกษากระทรวงศึกษาธิการในตำแหน่งครูโท ทำการสอนประจำที่โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย ได้รับอนุญาตให้ลาราชการเพื่อไปศึกษาต่อภายในประเทศในวิชาการสอนสังคมศึกษาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมีกำหนด2 ปี นับตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2516 ปรากฏตามคำสั่งของโจทก์ที่ 1173/2516 เอกสารหมาย จ.2 ในการนี้จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายอมผูกพันในเงื่อนไขข้อตกลงไว้กับโจทก์ โดยมีสาระสำคัญว่าจำเลยที่ 1 จะต้องกลับมาปฏิบัติราชการต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า2 เท่าของเวลาที่ได้รับเงินเดือนระหว่างการลาไปศึกษาต่อมิฉะนั้นจะต้องใช้เบี้ยปรับเป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนที่ได้รับไปแล้วทั้งหมดตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อในกรณีจำเลยที่ 1ไม่กลับเข้าปฏิบัติราชการเลย หรือต้องใช้เบี้ยปรับในจำนวนลดลงตามส่วนของระยะเวลาที่กลับมารับราชการเพียงส่วนหนึ่งแต่ยังไม่ครบกำหนดเวลาขั้นต่ำตามสัญญาข้างต้น รายละเอียดปรากฏตามสัญญาเอกสารหมาย จ.3 จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันความรับผิดของจำเลยที่ 1 ไว้ตามเอกสารหมาย จ.5 และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่ออีก 1 ปี ปรากฏตามคำสั่งโจทก์ที่ 862/2519 เอกสารหมาย จ.8 และสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์เอกสารหมาย จ.6 ซึ่งมีข้อตกลงว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่กลับเข้ารับราชการ จำเลยที่ 1 ยอมใช้เงินทุนหรือเงินเดือนทั้งหมดที่ได้รับไปในระหว่างศึกษาต่อ รวมทั้งเบี้ยปรับอีก 1 เท่า จำเลยที่ 3 ได้ทำสัญญาค้ำประกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.7หลังจากครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้วจำเลยที่ 1 ได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ราชการตามเดิมจนกระทั่งได้รับอนุญาตให้ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2521 ตามคำสั่งโจทก์เอกสาร เอกสารหมาย จ.9
สำหรับฎีกาจำเลยทั้งสามซึ่งคงโต้แย้งขึ้นมาเพียงข้อเดียวว่าในระหว่างที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อในช่วง2 ปีแรกจำเลยที่ 1 ได้มาช่วยทำการสอนให้กับทางโรงเรียนตามคำขอร้องของผู้อำนวยการโรงเรียนสัปดาห์ละ 10 ชั่วโมงในปีแรก และสัปดาห์ละ6 ชั่วโมงในปีที่สอง อันเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ศึกษาไม่สำเร็จและต้องต่อเวลาศึกษาอีก 1 ปีนั้น เห็นว่าคำสั่งของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 1 ไปศึกษาเพิ่มเติมเอกสารหมาย จ.2 ประกอบกับสัญญาที่จำเลยที่ 1 ได้ทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 มีผลให้จำเลยที่ 1ได้รับสิทธิที่จะไม่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่ทำการสอนที่โรงเรียนในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตตามสัญญา ดังนั้นหากจำเลยที่ 1ได้มาทำการสอนที่โรงเรียนในระหว่างระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาราชการตามสัญญาหมาย จ.3 จริงดังที่อ้างก็ตาม ก็จะนำเวลาที่มาช่วยทำการสอนอันมิใช่หน้าที่ราชการที่จำเลยที่ 1 จำต้องปฏิบัติในระหว่างนั้นมาคิดหักกับเวลาราชการที่จำเลยที่ 1 จะต้องปฏิบัติชดใช้หลังครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตแล้วมิได้ทั้งข้อเท็จจริงตามทางนำสืบของทั้งสองฝ่ายก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ไปช่วยทำการสอนในระหว่างเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลา ดังนั้นเมื่อจำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการชดใช้ไม่ครบ 4 ปี อันเป็นกำหนดเวลา2 เท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินเดือนระหว่างไปศึกษาต่อครั้งแรกโดยได้กลับเข้ามาปฏิบัติราชการหลังจากครบกำหนดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ลาไปศึกษาต่อ นับแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2519จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2521 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายก่อนที่ได้ลาออกจากราชการไปเป็นเวลาเพียง 2 ปี 1 เดือน 21 วัน จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าปรับในจำนวนลดลงตามส่วนของเวลาที่ได้ปฏิบัติราชการไปบ้างแล้วตามสัญญาข้อ 7 ของสัญญาฉบับแรกเอกสารหมาย จ.3 และต้องใช้ค่าปรับเป็นจำนวน 2 เท่าของเงินเดือนที่ได้รับมาทั้งหมดตลอดเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ไปศึกษาต่ออีก 1 ปี ตามสัญญาข้อ 7 ก.ของสัญญาฉบับหลังเอกสารหมาย จ.6 และจำเลยที่ 2 ที่ 3 ต่างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5 และ จ.7 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันให้จำเลยทั้งสามรับผิดตามสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์นั้นชอบแล้ว”
พิพากษายืน