แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนหรือไม่เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนแม้จำเลยทั้งสามมิได้ให้การไว้และมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ก็ยกขึ้นฎีกาได้ หนี้ที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสามล้มละลายเป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าเป็นหนี้ดังกล่าวจริงจึงผูกพันจำเลยทั้งสามและหนี้นั้นสามารถคิดคำนวณเป็นจำนวนแน่นอนได้จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนโดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 14
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาต้องวินิจฉัยเบื้องต้นว่าการที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2539 ว่า จำเลยที่ 1และที่ 2 ทิ้งฎีกา ให้จำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบความชอบหรือไม่ เห็นว่า อำนาจในการสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความของศาลฎีกาเป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาสั่งหาใช่อำนาจของศาลชั้นต้นไม่ ฉะนั้นจึงมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าว ปัญหาต่อไปมีว่า การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2ไม่ดำเนินการนำส่งสำเนาฎีกาให้โจทก์ภายในระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดอันเป็นการทิ้งฟ้องฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ประกอบด้วยมาตรา 246 และ มาตรา 247 ศาลฎีกาต้องสั่งจำหน่ายคดีเสมอไปหรือไม่เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132(1) ไม่ได้บังคับว่าศาลต้องจำหน่ายคดีเสมอไปบทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลใช้ดุลพินิจตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆไปได้ความว่า จำเลยทั้งสามยื่นฎีการวมกันมาในฉบับเดียวกันในชั้นแรกศาลชั้นต้นเห็นว่านายจรัส อุราสุข ผู้เรียงฎีกาเป็นทนายความเฉพาะจำเลยที่ 3 จึงมีคำสั่งรับเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่สั่งไม่รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 และจำเลยได้จัดการนำส่งสำเนาฎีกาฉบับดังกล่าวแก่โจทก์แล้ว ซึ่งโจทก์ก็ได้แก้ฎีกาของจำเลยทั้งสามมารวมในคำแก้ฎีกาฉบับเดียวกัน ต่อมาศาลฎีกามีคำสั่งลงวันที่ 25 ธันวาคม 2538 ให้รับฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ด้วย จึงไม่สมควรที่จะสั่งจำหน่ายฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2ออกจากสารบบความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 132 ศาลฎีกาจะได้ชี้ขาดคดีต่อไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 133
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า จำเลยทั้งสามค้างชำระหนี้โจทก์และหนี้อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) หรือไม่ ปัญหาว่า จำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนหรือไม่นี้ เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามจะมิได้ให้การไว้และมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามก็ยกขึ้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ประกอบพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 153 ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลายล้วนแต่เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจริง หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145และหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวสามารถคิดคำนวณเป็นจำนวนแน่นอนได้ จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 9(3) โดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบ ดังนั้น ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า คำเบิกความในเรื่องนี้ของนางชื่นวรรณ แสงธงทอง พยานโจทก์เป็นคำพยานบอกเล่าไม่มีน้ำหนัก จึงฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่าโจทก์ตกลงยอมรับชำระหนี้เพียง 3,150,000 บาท จำเลยทั้งสามได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์และโจทก์ได้ไถ่ถอนจำนองที่ดินที่เป็นประกันหมดแล้ว โจทก์จำเลยทั้งสามจึงไม่มีหนี้สินต่อกันจำเลยทั้งสามคงมีตัวจำเลยที่ 2 และนายทวี มุกด์ธนะอนันต์เป็นพยานเบิกความเพียงลอย ๆ ไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง ฝ่ายโจทก์มีนางชื่นวรรณ เป็นพยาน เบิกความว่า ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 19146/2531 โจทก์ได้นำยึดที่ดินของนายทวีและนายประสมมุกด์ธนะอนันต์ ผู้จำนอง บุคคลทั้งสองได้นำเงินมาชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองรวม 5 ครั้ง เป็นเงิน 3,150,000 บาท โจทก์จึงถอนการยึดที่ดินหักแล้วจำเลยทั้งสามคงค้างชำระหนี้จำนวน 3,030,000 บาทเศษและเป็นหนี้ตามคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 21681/2531จำนวน 2,880,000 บาทเศษ ในการติดต่อขอชำระหนี้นายทวีและนายประสมติดต่อกับนางชื่นวรรณ นางชื่นวรรณจึงเป็นผู้รู้เห็นเรื่องนี้ด้วยตนเอง นายทวีและนายประสมเป็นเพียงผู้จำนองที่ดินประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 เมื่อได้ชำระหนี้ตามสัญญาจำนองครบถ้วนแล้วก็หมดความผูกพัน โจทก์จึงต้องไถ่ถอนจำนองและถอนการยึดที่ดินให้คำเบิกความของนางชื่นวรรณมีเหตุผลให้รับฟัง ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้จำนองชำระหนี้ให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนจำเลยทั้งสามยังคงค้างชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ซึ่งเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอน ที่ศาลล่างทั้งสองมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสามเด็ดขาดชอบแล้วฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน