แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทิ้งฎีกา เป็นอำนาจของศาลฎีกาที่จะพิจารณาสั่งจำหน่ายคดี มิใช่เป็นอำนาจของศาลชั้นต้น
กรณีจำเลยที่ 1 และที่ 2 ทิ้งฎีกา ตาม ป.วิ.พ. มาตรา132 (1) ไม่ได้บังคับว่าศาลจะต้องสั่งจำหน่ายคดีเสมอไป บทบัญญัติดังกล่าวให้ศาลใช้ดุลพินิจตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่อง ๆ ไป
ปัญหาว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์กำหนดจำนวนได้แน่นอนหรือไม่ เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยทั้งสามมิได้ให้การไว้และมิได้ยกขึ้นว่ากันมาในชั้นศาลอุทธรณ์ จำเลยทั้งสามก็ยกขึ้นฎีกาได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 ประกอบ พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 153
หนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสามล้มละลาย ล้วนแต่เป็นหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งจำเลยทั้งสามให้การยอมรับว่าเป็นหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจริง หนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวจึงผูกพันจำเลยทั้งสามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 145และหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวสามารถคิดคำนวณเป็นจำนวนแน่นอนได้ จึงเป็นหนี้ที่กำหนดจำนวนได้แน่นอนตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 9 (3) โดยไม่จำต้องมีพยานบุคคลมาเบิกความประกอบ