แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนโดยตั้งประเด็นใหม่ว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นโมฆะซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องของโจทก์นั้นแล้ว และจำเลยทั้งห้าก็ได้ขอแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนแล้วว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นโมฆะ แต่ศาลชั้นต้นยังคงชี้สองสถานโดยตั้งประเด็นในเรื่องนี้ว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 โดยจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ อันเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องและคำให้การที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าแก้ไขซึ่งเป็นการผิดพลาด ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 183 ศาลสูงไม่จำต้องถือตามและมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้วพิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยให้โจทก์จึงมีสิทธิฎีกาต่อมา
จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจากจำเลยที่ 1 โดยทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 กับพวกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ยังคงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ตามคำขอ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดตามที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ไว้แล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 โจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตาม มาตรา 237
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินสองแปลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 12 กับจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 และขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 เพื่อจดทะเบียนให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งห้าเสียค่าใช้จ่ายร่วมกัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนั้นแล้ว จำเลยที่ 1 ย่อกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามคำขอของโจทก์ดังกล่าว และคำขอดังกล่าวโจทก์เป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้เพราะเพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 ตามเดิมเท่านั้น มิได้เรียกร้องเอาที่ดินทั้งสองแปลงเป็นของโจทก์
ย่อยาว
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลชั้นต้น พิพากษารวมกันโดยเรียกโจทก์ทั้งสองสำนวนว่า โจทก์ และเรียกนายวิเชียร ทองคำแท้ จำเลยที่ ๑ ทั้งสองสำนวนว่า จำเลยที่ ๑ เรียกนายพงศ์ธร จำปาน้อย จำเลยที่ ๒ ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ ๒ เรียกนายมงคล สุตัณฑวิบูลย์ จำเลยที่ ๒ นายโสฬส สุตัณฑวิบูลย์ จำเลยที่ ๓ และนางสาวมณีรัตน์ สุตัณฑวิบูลย์ จำเลยที่ ๔ ในสำนวนหลังว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ และที่ ๕ ตามลำดับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์ผ่อนชำระหนี้ แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยที่ ๑ ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๙๕/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ ๑ ไม่ยอมจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๒๕๒๙, ๔๐๓๙, ๔๐๘๑ ตำบลสำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี และเลขที่ ๘๖๗, ๘๖๘ ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์ตามที่ตกลงจะซื้อขายกัน กลับจดทะเบียนโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๔๐๓๙ และ ๔๐๘๑ แก่บุคคลภายนอก วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๑ กับพวกโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๒๕๒๙, ๘๖๗, ๘๖๘ แก่โจทก์ ตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๔๒/๒๕๓๒ ของศาลชั้นต้น และแจ้งเรื่องระหว่างดำเนินการทางศาลต่อนายอำเภอชัยบาดาลแล้ว ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้บังคับดีตามคำฟ้องของโจทก์ ศาลฎีกาพิพากษายืน ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นนั้นเอง จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๘ แก่จำเลยที่ ๒ พร้อมกับโอนขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๗ แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ทั้งที่จำเลยทั้งห้ารู้อยู่แล้วว่าโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้ใช้สิทธิทางศาลเพื่อเรียกร้องเอาที่ดินทั้งสองแปลงแล้ว จึงเป็นการกระทำโดยไม่สุจริตเพื่อมิให้โจทก์ได้รับโอนที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวและมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน นิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งห้าจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้เพิกถอนหรือทำลายนิติกรรมการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินทั้งสองแปลงนั้น ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนเปลี่ยนกลับมาเป็นชื่อของจำเลยที่ ๑ เพื่อจดทะเบียนโอนที่ดินแก่โจทก์ทันที โดยให้จำเลยทั้งห้าเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายร่วมกัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา
จำเลยทั้งห้าให้การและแก้ไขคำให้การว่า คำฟ้องของโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ๖๔๒/๒๕๓๒ ของศาลชั้นต้น นั้น เมื่อศาลมีคำสั่งถอนการยึดทรัพย์ตามคำของธนาคารผู้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมมีสิทธิโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ตามลำดับ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ต่างก็ซื้อที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ไม่มีผู้หนึ่งผู้ใดรู้เท่าถึงข้อความจริงว่าจำเลยที่ ๑ มีหนี้อยู่แก่โจทก์หรือถูกโจทก์ฟ้อง อันจะเป็นทางให้โจทก์ต้องเสียเปรียบนั้นด้วย นิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทมิได้มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่เป็นโมฆะ โจทก์ไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอน อย่างไรก็ตาม โจทก์ได้รู้ถึงเหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแล้วตั้งแต่วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๓๘ ตามคำแถลงของโจทก์ประกอบรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ฉบับวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๓๘ ในสำนวนคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๒๕/๒๕๓๕ ของศาลชั้นต้นแต่ฟ้องร้องเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่เวลาดังกล่าว จึงขาดอายุความ คำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ผูกพันจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่า เดิมจำเลยที่ ๑ กับพวกตกลงจะขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกับที่ดินอื่นอีก ๓ แปลง แก่โจทก์ โดยที่ดิน ๕ แปลงนี้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) นำยึดเพื่อขายทอดตลาดบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๔๙๕/๒๕๒๙ ของศาลชั้นต้นและโจทก์ชำระหนี้แก่ธนาคารแทนจำเลยที่ ๑ กับพวกเป็นการชำระราคา ต่อมาเมื่อธนาคารจดทะเบียนถอนจำนองแล้ว จำเลยที่ ๑ กับพวกไม่ยอมโอนที่ดิน ๕ แปลง แก่โจทก์ตามสัญญา วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๒ โจทก์ฟ้องคดีเพื่อขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ กับพวกจดทะเบียนโอนที่ดิน ๕ แปลงนี้ให้แก่โจทก์ ตามสำนวนคดีแพ่งหมายเลยดำที่ ๖๔๒/๒๕๓๒ หมายเลขแดงที่ ๒๒๕/๒๕๓๕ ของศาลชั้นต้น รุ่งขึ้นวันที่ ๘ เดือนเดียวกัน โจทก์ยื่นคำขอแจ้งเรื่องระหว่างดำเนินการทางศาลดังกล่าวต่อนายอำเภอชัยบาดาลแจ้งแก่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงทราบว่าโจทก์ได้ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ กับพวกโอนสิทธิในที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์ตามเอกสารหมาย จ.๓ ต่อมาวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๓๒ ขณะที่คดีดังกล่าวอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๑ โอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๘ แก่จำเลยที่ ๒ และโอนขายที่ดินพิพาทตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๗ แก่จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ โดยเจ้าพนักงานที่ดินแจ้งข้อความตามเอกสารหมาย จ.๓ ให้จำเลยทั้งห้าทราบแล้ว แต่จำเลยทั้งห้าต่างให้ถ้อยคำแก่เจ้าพนักงานที่ดินยืนยันให้จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลง สำหรับคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๒๕/๒๕๓๕ ของศาลชั้นต้นนั้น ในที่สุดศาลฎีกาพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ กับพวก จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่โจทก์
พิเคราะห์แล้ว ที่โจทก์ฎีกาข้อแรกว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ เป็นโมฆะ เพราะมีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำฟ้องทั้งสองสำนวนโดยตั้งประเด็นใหม่ว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นโมฆะซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาตตามคำร้องขอของโจทก์นั้นแล้ว และจำเลยทั้งห้าก็ได้ขอแก้ไขคำให้การทั้งสองสำนวนแล้วว่านิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงไม่เป็นโมฆะ แต่ศาลชั้นต้นยังคงชี้สองสถานโดยตั้งประเด็นในเรื่องนี้ว่าจำเลยที่ ๑ มีสิทธิโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้แก่จำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ โดยจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ กระทำการโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนหรือไม่ อันเป็นคนละเรื่องกับคำฟ้องและคำให้การที่โจทก์และจำเลยทั้งห้าแก้ไขซึ่งเป็นการผิดพลาด ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๓ ศาลสูงไม่จำต้องถือตามและมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแล้ว พิพากษาคดีไปตามประเด็นที่ถูกต้องได้ เมื่อโจทก์อุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาค ๒ รับวินิจฉัยให้โจทก์จึงมีสิทธิยกขึ้นฎีกาต่อมา สำหรับปัญหาตามฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะมิได้ขออายัดที่ดินพิพาททั้งสองแปลงต่อเจ้าพนักงานที่ดินก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้แจ้งเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ กับพวกโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงแก่โจทก์ตามคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๒๕/๒๕๓๕ ของศาลชั้นต้น ต่อนายอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี เพื่อให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอชัยบาดาลแจ้งแก่บุคคลภายนอกที่ประสงค์จะทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงทราบเรื่องดังกล่าวแล้วด้วย และหลังจากนั้นเมื่อจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๔ รับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงดังกล่าวจากจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ต่างก็ได้ทราบจากเจ้าพนักงานที่ดินแล้วว่าโจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ กับพวกโอนที่ดินทั้งสองแปลงนี้ให้แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ ยังคงยืนยันให้เจ้าพนักงานที่ดินรับจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงให้ตามคำขอ การกระทำของจำเลยทั้งห้าเช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยทั้งห้ามีเจตนาโอนและรับโอนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเพื่อขัดขวางมิให้โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ ๑ ได้รับชำระหนี้ทั้งหมดตามที่โจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ ๑ ชำระหนี้ไว้แล้ว นิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้จึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ และโจทก์ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนได้โดยไม่จำต้องใช้สิทธิในเรื่องการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๓๗ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น และไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาในเรื่องอายุความข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งห้าต่อไป เนื่องจากจำเลยทั้งห้าให้การต่อสู้เฉพาะเรื่องอายุความการเพิกถอนการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๔๐ เท่านั้น จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความในกรณีอื่นอีก แต่ที่โจทก์ขอบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันแก้ไขทางทะเบียนที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นชื่อจำเลยที่ ๑ เพื่อจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์โดยให้จำเลยทั้งห้าเสียค่าใช้จ่ายร่วมกัน หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนานั้น เห็นว่า เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาททั้งสองแปลงนี้แล้ว จำเลยที่ ๑ ย่อมกลับมีชื่อเป็นเจ้าของในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) สำหรับที่ดินพิพาททั้งสองแปลงโดยอัตโนมัติ ไม่จำต้องบังคับจำเลยทั้งห้าตามคำขอของโจทก์ดังกล่าวอีก อนึ่ง คดีทั้งสองสำนวนนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ แปลงหนึ่ง และระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ อีกแปลงหนึ่ง โดยมิได้เรียกร้องเอาที่ดินพิพาททั้งสองแปลงเป็นของโจทก์ เพียงแต่ขอให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงกลับมาเป็นของจำเลยที่ ๑ ตามเดิมเท่านั้น จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลในแต่ละชั้นศาลสำนวนละ ๒๐๐ บาท เมื่อโจทก์เสียค่าขึ้นศาลทั้งสองสำนวนมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์อันเป็นการไม่ถูกต้อง จึงต้องคืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินมาแก่โจทก์
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๘ ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ และให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.๓ ก.) เลขที่ ๘๖๗ ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๕ คืนค่าขึ้นศาลที่โจทก์เสียมาอย่างคดีมีทุนทรัพย์ทั้งสองสำนวน คงเรียกไว้อย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์ทั้งสามศาล ให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ในสำนวนแรก และให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ถึงที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์สำนวนหลัง โดยกำหนดค่าทนายความให้สำนวนละ ๖,๐๐๐ บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก