แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นอยู่ในเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างเป็นพยานคือเอกสารในคดีอื่นซึ่งโจทก์จำเลยส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวต่อศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องนำสำนวนคดีดังกล่าว มา ผูกติดกับสำนวนคดีนี้ และเมื่อเห็นว่าพยานเอกสารดังกล่าวเพียงพอ แก่ การวินิจฉัยคดีแล้ว ศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจสั่งให้งดสืบ พยานโจทก์จำเลยได้ เงินมัดจำ 500,000 บาท ที่โจทก์ชำระให้จำเลยซึ่งเป็นราคาที่ดินส่วนหนึ่งอันจะนำไปสู่การทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลโดยมีข้อตกลงกันว่าก่อนทำสัญญาประนีประนอมยอมความต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินนั้น เมื่อโจทก์จำเลยยังไม่ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่กระทำกันมาแล้วเสียได้ และจะถือว่าข้อตกลงนั้นเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ แม้จะมีการชำระเงินมัดจำกันแล้วก็ตาม โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเงินมัดจำดังกล่าวคืนได้ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 378(1) และถือไม่ได้ว่า เป็น การ เลิกสัญญา ซึ่ง ต้อง ให้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามมาตรา 391 หรือเป็นเรื่องลาภมิควรได้ตามมาตรา 406 การเรียกเงิน มัดจำคืนดังกล่าวไม่มี กฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่น จึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ส่วนดอกเบี้ยในเงินค่ามัดจำดังกล่าวนั้นเมื่อกรณีไม่ใช่การเลิกสัญญา ตามมาตรา 391 จึงไม่ตกอยู่ในบังคับของมาตรา 391 วรรคสอง เมื่อข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าโจทก์ทวงถามเมื่อใด จึงถือว่าจำเลย เป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง ต้องชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่ง ต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เดิมคดีก่อนจำเลยเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท ในระหว่างพิจารณาดังกล่าวโจทก์จำเลยตกลงกันว่า โจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทบางส่วน โจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว ต่อมาจำเลยไม่สามารถโอนที่ดินให้แก่โจทก์ได้ เพราะจำนวนเนื้อที่ดินไม่ครบตามที่ตกลงกัน ในที่สุดตกลงกันไม่ได้ ศาลสอบคู่ความแล้วมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย แล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งของจำเลย โดยวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยดังกล่าวมีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือโดยมีการวางมัดจำเป็นเงิน 500,000 บาท มีผลบังคับกันได้ คู่ความชอบที่จะไปดำเนินคดีกันใหม่เกี่ยวกับสัญญาจะซื้อจะขาย โจทก์อุทธรณ์และฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การจำเลยแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี เมื่อข้อตกลงถูกยกเลิกคู่สัญญาย่อมกลับคืนสู่ฐานะเดิม จำเลยต้องคืนเงินมัดจำให้โจทก์ โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้จำเลยชำระค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า การที่ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยไม่มีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขาย และโจทก์จำเลยยังมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน เงินจำนวน 500,000 บาท ที่จำเลยรับไว้จากโจทก์จึงปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ มีลักษณะเป็นลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 โจทก์รู้ว่าโจทก์มีสิทธิเรียกเงินดังกล่าวคืนจากจำเลยตั้งแต่วันที่ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาเกินกว่าหนึ่งปีแล้ว คดีของโจทก์จึงขาดอายุความจำเลยรับเงินดังกล่าวไว้โดยสุจริต โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ หากจะเรียกได้ก็เรียกได้เกินอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัด แต่โจทก์ไม่เคยทวงถามจำเลย จำเลยจึงยังไม่ผิดนัด
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นอยู่ในเอกสารที่โจทก์และจำเลยอ้างเป็นพยานคือเอกสารในสำนวนคดีหมายเลขดำที่95/2523 หมายเลขแดงที่ 208/2524 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ได้ขอคัดโดยถ่ายสำเนาส่งตามที่ต้องการตามคำสั่งศาลชั้นต้นแล้ว และเอกสารที่จำเลยอ้างเป็นพยาน จำเลยก็ได้คัดโดยถ่ายสำเนาส่งไว้แล้วเช่นเดียวกัน จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำสำนวนคดีดังกล่าวมาผูกติดกับสำเนาคดีนี้ พยานเอกสารดังกล่าวเพียงพอแก่การวินิจฉัยคดีได้แล้วศาลชั้นต้นมีอำนาจใช้ดุลพินิจที่จะมีคำสั่งให้งดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลยได้ จึงเป็นคำสั่งที่ชอบแล้ว ข้อตกลงในคดีก่อนที่จำเลยเป็นจำเลยว่าโจทก์จะซื้อที่ดินพิพาทบางส่วนโดยโจทก์ชำระเงินมัดจำให้แก่จำเลยดังกล่าวเกิดขึ้นจากโจทก์ จำเลยมีเจตนาที่จะประนีประนอมยอมความเพื่อระงับข้อพิพาทที่โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินของโจทก์และการประนีประนอมยอมความยังหายุติลงไม่เพราะยังต้องดำเนินการรังวัดแบ่งแยกโฉนดที่ดินกันอยู่อีก เมื่อแบ่งแยกโฉนดที่ดินเสร็จแล้วจึงจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความและให้ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ฉะนั้นการที่โจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันเช่นนี้ จึงยังถือไม่ได้ว่าโจทก์และจำเลยได้ตกลงประนีประนอมยอมความกันแล้วเสร็จ โจทก์หรือจำเลยย่อมมีสิทธิยกเลิกข้อตกลงเบื้องต้นที่ได้กระทำกันมาแล้วเสียได้ และจะถือเอาข้อตกลงนั้นว่ามีผลเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหาได้ไม่ ถึงแม้จะได้มีการชำระเงินมัดจำแล้วก็ตามจำเลยก็ย่อมมีสิทธิให้โจทก์คืนเงินมัดจำให้จำเลยได้เช่นกัน เมื่อจำเลยได้ยกเลิกข้อตกลง โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกเงินมัดจำจำนวน500,000 บาท ที่ชำระให้แก่จำเลยไว้คืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 378(1) และมิใช่เป็นกรณีเลิกสัญญาแล้วคู่สัญญาต้องให้อีกฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะเดิมตามมาตรา 391แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย และก็มิใช่เป็นกรณีเรื่องลาภมิควรได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 406 การที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนจากจำเลยไม่ใช่เป็นกรณีฟ้องเรียกคืนฐานลาภมิควรได้ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับตามมาตรา 419 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งจำต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ 1 ปี แต่กรณีเรื่องที่โจทก์ฟ้องเรียกเอาเงินมัดจำคืนไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นอย่างอื่นจึงฟ้องได้ภายในกำหนด 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินมัดจำคืนซึ่งไม่ใช่เป็นกรณีเลิกสัญญาตามมาตรา 391 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ การชำระดอกเบี้ยจึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของมาตรา 391 วรรคสอง ก่อนฟ้องคดีนี้ไม่อาจทราบได้ว่าจำเลยผิดนัดเมื่อใด แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีฟังได้ว่าโจทก์ได้ทวงถามจำเลยให้คืนเงินแล้ว ถือได้ว่าจำเลยทราบว่าโจทก์ทวงถามตั้งแต่วันฟ้องและถือว่าจำเลยตกเป็นผู้ผิดนัดตั้งแต่วันฟ้อง (วันที่ 7 กรกฎาคม2529) จำเลยจึงต้องชำระดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระค่าดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ในต้นเงิน 500,000 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 7กรกฎาคม 2529) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.