คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5734/2550

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า ความผิดตามฟ้องเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกันจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่า พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตมีอำนาจสอบสวนตาม ป.วิ.อ. มาตรา 19 แล้ว จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกมิได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้ทำการสอบสวนแล้ว ก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงฯ มาตรา 4
โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินยืม อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย ครบองค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ มาตรา 4 ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าหนี้เงินยืมดังกล่าวได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 และวันที่ 3 ธันวาคม 2545 เวลากลางวัน จำเลยออกเช็คธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาราษฎร์บูรณะ จำนวน 3 ฉบับ ฉบับแรกลงวันที่ 23 พฤศจิกายน 2545 สั่งจ่ายเงินจำนวน 400,000 บาท ฉบับที่ 2 และที่ 3 ลงวันที่ 3 ธันวาคม 2545 สั่งจ่ายเงินจำนวน 1,500,000 บาท และ 100,000 บาท ตามลำดับ มอบให้นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้เสียหาย เพื่อชำระหนี้เงินยืม ซึ่งเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนดผู้เสียหายนำไปเรียกเก็บเงินแต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินฉบับที่ 2 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2546 ส่วนฉบับแรกและฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2546 โดยให้เหตุผลอย่างเดียวกันว่าเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ทั้งนี้ จำเลยออกเช็คทั้งสามฉบับโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค และในขณะที่ออกเช็คไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ เหตุเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา นายชาญเวช บุญประเดิม ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 (1) (4) (ที่ถูก มาตรา 4 (1) (2) เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 2 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กึ่งหนึ่ง จำคุกกระทงละ 1 เดือน รวม 3 กระทง คงจำคุก 3 เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า ความผิดตามฟ้องอยู่ในเขตอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลราษฎร์บูรณะ แต่โจทก์ร่วมไปร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิต จำเลยมิได้กระทำความผิดหรือถูกจับกุมในท้องที่ของสถานีตำรวจนครบาลดุสิต ทั้งมิใช่เป็นความผิดต่อเนื่องกับท้องที่ของสถานีตำรวนครบาลดุสิต และมิใช่ความผิดหลายกรรมกระทำลงในสถานที่ต่างๆ กัน ดังนั้น พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตจึงไม่มีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนว่า ความผิดตามฟ้องเกิดที่แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต และแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ กรุงเทพมหานคร เกี่ยวพันกัน จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตมีอำนาจสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 แล้ว จำเลยจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกมิได้ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยว่าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลดุสิตได้ทำการสอบสวนแล้วก็เป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า คำฟ้องของโจทก์ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) หรือไม่ จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจำเลยออกเช็คเพื่อชำระหนี้เงินยืมที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมาย โดยมิได้บรรยายข้อเท็จจริงว่าหนี้เงินยืมดังกล่าวได้มีการทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยไว้หรือไม่ ทั้งมิได้แนบหนังสือสัญญากู้ยืมอันเป็นหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมาท้ายฟ้อง จึงเป็นคำฟ้องที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) นั้น เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องไว้ชัดเจนแล้วว่า จำเลยออกเช็คพิพาทมอบให้แก่โจทก์ร่วมเพื่อชำระหนี้เงินยืม อันเป็นหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายครบองค์ประกอบความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2534 มาตรา 4 ที่ว่า ผู้ใดออกเช็คเพื่อชำระหนี้ที่มีอยู่จริงและบังคับได้ตามกฎหมายแล้ว ส่วนข้อเท็จจริงที่ว่าหนี้เงินยืมดังกล่าวได้ทำหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยและบังคับได้ตามกฎหมายหรือไม่ อย่างไร เป็นรายละเอียดที่โจทก์จะต้องนำสืบในชั้นพิจารณาไม่จำเป็นต้องบรรยายมาในฟ้อง คำฟ้องของโจทก์จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้วคำพิพากษาศาลฎีกาที่จำเลยอ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ จึงไม่อาจนำมาเทียบเคียงวินิจฉัยให้ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เห็นว่า จำเลยออกเช็คพิพาท 3 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,000,000 บาท ประกอบกับโจทก์ร่วมยอมลดหนี้ให้แก่จำเลยเหลือจำนวน 1,500,000 บาท ทั้งยังให้โอกาสแก่จำเลยผ่อนชำระ แต่จำเลยผ่อนชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วมเพียงบางส่วน แล้วผิดนัดไม่ชำระเงินให้แก่โจทก์ร่วม โดยยังค้างชำระหนี้โจทก์ร่วมอีกจำนวน 1,110,000 บาท นับว่าเป็นเงินจำนวนมาก ที่จำเลยฎีกาอ้างว่าจำเลยมีภาระต้องเลี้ยงดูครอบครัวและลูกจ้าง หากจำเลยถูกลงโทษจำคุกจะทำให้ครอบครัวได้รับความเดือดร้อน ก็เป็นเพียงเหตุผลและความจำเป็นส่วนตัวของจำเลยเท่านั้น ไม่เป็นเหตุเพียงพอที่จะรอการลงโทษให้แก่จำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รอการลงโทษให้แก่จำเลยนั้น เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้ลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก”
พิพากษาแก้เป็นว่า โจทก์จำคุก 3 เดือนให้เปลี่ยนเป็นกักขัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 23 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share