คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5728/2533

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การวางท่อส่งก๊าซธรรมชาติ กระทำเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภคและเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ การสร้างท่าเรือน้ำลึกก็เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและประเทศชาติ ถือได้ว่ากระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ จำเลยที่ 2 ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ที่ ๑ เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ ๑๕๗๕๙/๑๐๙๑๘โจทก์ที่ ๒ เป็นผู้ถือประทานบัตรที่ ๑๗๓๕๕/๑๒๐๐๕ ประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองอยู่ติดต่อกันในทะเลที่ตำบลมาบตาพุฒ อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง จำเลยที่ ๕ ได้วางท่อส่งก๊าซผ่านเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสอง และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ ไม่ยอมให้โจทก์ทั้งสองขุดแร่ในเขตประทานบัตร จำเลยที่ ๗ แจ้งว่าโครงการท่าเรือมาบตาพุฒมีพื้นที่บางส่วนล้ำเข้ามาในเขตประทานบัตรของโจทก์ จะถอนคืนประทานบัตรบางส่วน โจทก์ทั้งสองร้องขอความเป็นธรรม แต่จำเลยที่ ๑ กลับใช้อำนาจบีบเอาเนื้อที่บางส่วนในเขตประทานบัตรไปโดยไม่จ่ายค่าเสียหายโจทก์ที่ ๑ เสียหายเป็นเงิน ๗๓๑,๑๖๙,๙๗๘ บาท โจทก์ที่ ๒ เสียหาย๑๑๗,๖๑๘,๓๐๙ บาท ขอให้บังคับให้จำเลยทั้งแปดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยทั้งแปดให้การว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยทำเหมืองแร่และสำรวจแร่ในเขตประทานบัตร โจทก์ทั้งสองไม่ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย จำเลยเคยเจรจากับโจทก์ แต่โจทก์ทั้งสองเรียกค่าเสียหายเกินความเป็นจริง จำเลยที่ ๒ ใช้อำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่เขตประทานบัตรตามมาตรา ๙ ตรี แห่งพระราชบัญญัติแร่พ.ศ.๒๕๑๐ ซึ่งไม่เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ฟ้องเป็นเวลาเกินกว่า ๑ ปี นับแต่รู้ตัวผู้ต้องรับผิด คดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าทดแทนให้โจทก์ที่ ๑ เป็นเงิน ๒,๗๕๓,๒๑๖.๑๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ สำหรับจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๖ ที่ ๗และที่ ๘ ยกฟ้องโจทก์ที่ ๒ สำหรับจำเลยทั้งแปด
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ ๑ ที่ ๕ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาว่าการสั่งเพิกถอนประทานบัตรเป็นการทำละเมิดต่อโจทก์ที่ ๑ หรือไม่ จำเลยนำสืบว่า จำเลยที่ ๕ มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่ ๑ เพื่อวางท่อส่งก๊าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุด เพราะประชาชนจะได้รับประโยชน์มากมาย ทำให้สามารถผลิตเชื้อเพลิงขึ้นใช้ในประเทศเอง ไม่ต้องซื้อจากแหล่งผลิตต่างประเทศ เป็นการประหยัดเงินตราได้อย่างมาก และเป็นผลดีแก่ประชาชนในอนาคต เพราะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติและเป็นการส่งเสริมพัฒนาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทำให้เศรษฐกิจของประเทศดีขึ้น และมีการพัฒนาต่อเนื่องกันอีกมาก จำเลยที่ ๗ มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ เพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เนื่องจากต้องใช้เขตนี้ในการขนส่งวัตถุดิบให้แก่โรงงานอุตสาหกรรมในเขตท้องที่ตำบลมาบตาพุด และโรงงานอุตสาหกรรมนอกเขตด้วย ท่าเรือแห่งนี้เป็นท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกในประเทศไทย สามารถจะให้บริการแก่เรือขนาดใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศชาติอย่างมาก เช่นในด้านการจ้างแรงงาน การผลิตสินค้า และการนำก๊าซธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยที่ ๕ และจำเลยที่ ๗ เป็นรัฐวิสาหกิจ มีความจำเป็นต้องใช้เนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองเพื่อวางท่อส่งก็าซจากแหล่งก๊าซที่อ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ตำบลมาบตาพุด และเพื่อสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดจริงตามที่จำเลยนำสืบ การวางท่อส่งก๊าซดังกล่าวเป็นการประกอบการเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนทั่วไป ถือได้ว่าจำเลยที่ ๕ กระทำไปเพื่อประโยชน์แก่การอันเป็นสาธารณูปโภค และเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ การสร้างท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปและประเทศชาติ ถือได้ว่าจำเลยที่ ๗ กระทำไปเพื่อประโยชน์สาธารณะของรัฐ ดังนั้น จำเลยที่ ๒ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจึงมีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อที่ในเขตประทานบัตรของโจทก์ทั้งสองได้ โจทก์ทั้งสองเป็นผู้ถือประทานบัตรจึงไม่มีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.๒๕๑๐ มาตรา ๙ ตรีซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแร่ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๕ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ร่วมกันใช้ค่าทดแทนแก่โจทก์ที่ ๑ นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยฎีกาของจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ที่ ๑ สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๕ ด้วย.

Share