คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5724/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ง. ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อเห็นผู้ตายได้รับอันตรายสาหัส ง. จะต้องเปิดประตูรถยนต์ออกมาเพื่อจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น ส่วนจำเลยได้รับอันตรายสาหัสและเมาสุราจำเลยจะต้องออกจากรถยนต์หลังจากที่ ง. ออกมาจากรถยนต์ก่อนแล้วเป็นการที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยอาศัยหลักเหตุผลที่ว่าบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บมากย่อมจะต้องออกมาจากรถยนต์ช้ากว่าบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย จึงเป็นการชอบด้วยการรับฟังพยานหลักฐานแล้วหาเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ คำให้การชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลแต่ประการใด เมื่อปรากฏว่า ส.ให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นานและ ส. เป็นพยานคนกลางไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงน่าเชื่อว่า ส. ให้การไปตามความจริงที่รู้เห็นมา ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของ ส. ประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ นั้น จึงหาเป็นการขัดต่อกฎหมายไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขับรถประมาทเป็นเหตุให้ผู้ตายซึ่งขับรถสวนมาถึงแก่ความตายและผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 42, 66
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291, 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบกพ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291ซึ่งเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปีข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์มีนางเง็กเฮียะเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ตรงที่เกิดเหตุมีไฟฟ้าเปิดสว่าง หลังจากรถยนต์คันที่ผู้ตายขับถูกชนและพยานเห็นหนังศีรษะผู้ตายเปิดแล้ว พยานเปิดประตูรถยนต์ออกมาเรียกให้คนช่วย เห็นคนขับรถยนต์คู่กรณีคลานออกมาจากรถของตนเอง และมานั่งจับเข่าร้องโดยอยู่ที่เกาะกลางถนน จำได้ว่าเป็นจำเลยนี้ และพยานเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า เห็นจำเลยตอนที่จำเลยออกมาจากที่นั่งคนขับ คำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ปากนี้สอดคล้องตรงกันกับคำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุทธิชัยแซ่กัว ซึ่งพันตำรวจโทกฤษฎา บูรณพานิช พนักงานสอบสวนได้บันทึกไว้ว่า เมื่อนายสุทธิชัยเห็นรถยนต์ชนกันแล้ว นายสุทธิชัยออกไปดูที่รถเห็นจำเลยออกจากที่นั่งด้านผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 9 ม-6696 กรุงเทพมหานคร มาอยู่ที่เกาะกลางถนน มีบาดแผลที่ขาขวา คิดว่าขาหักและจำเลยอาเจียนด้วย ส่วนนายนิธิรงค์นอนนิ่งอยู่ตรงที่นั่งคู่กับคนขับและเห็นนางเง็กเฮียะออกจากรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 บ-7989 กรุงเทพมหานคร มายืนร้องไห้อยู่ด้านคนขับรถที่ติดอยู่ในรถออกไม่ได้ นอกจากนี้สภาพรถยนต์ทั้งสองคันถูกชนที่ด้านหน้าข้างขวาตรงกับที่นั่งคนขับได้รับความเสียหายมาก ส่วนด้านหน้าซ้ายเกือบจะไม่ได้รับความเสียหายเลยจากสภาพความเสียหายของรถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าว ผู้ที่ขับรถยนต์ทั้งสองคันย่อมจะต้องได้รับบาดเจ็บมากกว่าผู้ที่นั่งทางด้านซ้ายคู่กับคนขับ และปรากฏว่าผู้ตายซึ่งเป็นผู้ขับรถยนต์คันหมายเลขทะเบียน 3 บ-7989 กรุงเทพมหานคร ได้รับอันตรายสาหัสและถึงแก่ความตายในเวลาต่อมา ส่วนนางเง็กเฮียะซึ่งนั่งทางด้านซ้ายคู่กับคนขับได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยในทำนองเดียวกันปรากฏว่าจำเลยได้รับบาดเจ็บต้นขาขวาหัก ส่วนนายนิธิรงค์ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยเมื่อนำคำเบิกความของนางเง็กเฮียะ คำให้การในชั้นสอบสวนของนายสุทธิชัยมาประกอบกับสภาพรถยนต์คันที่นั่งมาและบาดแผลที่จำเลยได้รับมากกว่านายนิธิรงค์แล้ว เชื่อได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขับรถยนต์นั่งสองแถวส่วนบุคคลคันหมายเลขทะเบียน 9 ม-6696 กรุงเทพมหานครในขณะเกิดเหตุพยานหลักฐานที่จำเลยนำสืบขัดต่อเหตุผลและสภาพความเป็นจริงที่เกิดแก่จำเลยและผู้ตายรวมทั้งสภาพความเสียหายของรถยนต์ทั้งสองคันจึงไม่มีน้ำหนักที่จะฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า นางเง็กเฮียะได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย เมื่อเห็นผู้ตายได้รับอันตรายสาหัส นางเง็กเฮียะจะต้องเปิดประตูรถยนต์ออกมาเพื่อจะขอความช่วยเหลือจากคนอื่นส่วนจำเลยได้รับอันตรายสาหัสและเมาสุรา จำเลยจะต้องออกจากรถยนต์หลังจากที่ นางเง็กเฮียะออกมาจากรถยนต์ก่อนแล้วเป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงนอกเหนือไปจากคำพยานในสำนวนเป็นการไม่ชอบ ในการรับฟังพยานหลักฐานนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยอาศัยหลักเหตุผลที่ว่าบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บมากย่อมจะต้องออกมาจากรถยนต์ช้ากว่าบุคคลที่ได้รับบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ดังกล่าวจึงชอบด้วยการรับฟังพยานหลักฐานแล้วที่จำเลยฎีกาว่า ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุทธิชัยเป็นการขัดต่อกฎหมายนั้น เห็นว่า คำให้การพยานชั้นสอบสวนไม่มีกฎหมายบัญญัติห้ามไม่ให้รับฟังประกอบเป็นข้อพิจารณาของศาลประการใด ปรากฏว่านายสุทธิชัยให้การต่อพนักงานสอบสวนหลังเกิดเหตุไม่นาน และนายสุทธิชัยเป็นพยานคนกลาง ไม่มีส่วนได้เสียกับฝ่ายใด จึงน่าเชื่อว่านายสุทธิชัยให้การไปตามความจริงที่รู้เห็นมา ที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำให้การชั้นสอบสวนของนายสุทธิชัยประกอบกับพยานหลักฐานอื่นของโจทก์นั้น หาเป็นการขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใดไม่
พิพากษายืน

Share