แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 บัญญัติให้สิทธิจำเลยที่ขาดนัดพิจารณาสาบานตนเข้าเบิกความเป็นพยาน และถามค้านพยานโจทก์ได้ หากการขาดนัดพิจารณาของจำเลยเป็นไปโดยไม่จงใจ และศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีใหม่ และแม้จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจก็ตาม ในการไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ศาลจึงต้องวินิจฉัยด้วยว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ เพื่อสิทธิตามกฎหมายของจำเลย
การที่จำเลยไปศาลแต่ไม่ยอมเข้าไปในห้องพิจารณาเองโดยไม่มีใครห้าม ต้องถือว่าจำเลยขาดนัดพิจารณาโดยจงใจ จำเลยจึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่
ย่อยาว
มูลกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๑ หย่าขาดกับโจทก์ ให้จำเลยที่ ๑ แบ่งสินสมรส จ่ายค่าอุปการะเลี้ยงดูโจทก์และบุตร ให้จำเลยที่ ๒ ใช้ค่าทดแทน และให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ จำเลยทั้งสี่ขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่แพ้คดี ในระหว่างออกคำบังคับ จำเลยทั้งสี่ยื่นคำร้องว่าจำเลยทั้งสี่มิได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ได้มาศาล แต่ไปผิดที่โดยไปที่ศาลากลางจังหวัด เมื่อมาถึงศาลปรากฏว่าศาลพิจารณาคดีเสร็จแล้วจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มิได้จงใจขาดนัดพิจารณาขอให้พิจารณาคดีใหม่
โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ยอมเข้าห้องพิจารณาในวันนัดสืบพยานโจทก์ ถือว่าจงใจขาดนัดพิจารณา ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นงดไต่สวนสำหรับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และไม่อนุญาตให้พิจารณาคดีจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใหม่ ส่วนจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ขาดนัดยื่นคำให้การโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้ยกคำร้อง
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจ ขอให้พิจารณาคดีใหม่ไม่ได้ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ต่อไปพิพากษายืน
จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาแรกมีว่า จะต้องวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ โดยจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกาว่าจะต้องวินิจฉัยด้วย เพราะมิฉะนั้น ถ้าข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยไม่จงใจ และศาลอุทธรณ์ให้พิจารณาคดีนี้ใหม่แล้ว จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ มีสิทธิสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัย จึงเป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา๑๙๙ วรรคสอง บัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่าการขาดนัดนั้นเป็นไปโดยจงใจหรือไม่มีเหตุอันสมควรแล้วให้ศาลมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไปโดยไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การ ในกรณีเช่นนี้ จำเลยอาจสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ แต่หาอาจเรียกพยานของตนเข้าสืบได้ไม่” ตามบทบัญญัติดังกล่าวจะเห็นได้ว่า แม้คดีนี้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การโดยจงใจก็ตาม แต่ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่า การขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นไปโดยไม่จงใจและศาลอนุญาตให้พิจารณาคดีนี้ใหม่แล้ว จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ยังคงมีสิทธิสาบานตนให้การเป็นพยานเองและถามค้านพยานโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ วรรคสอง ฉะนั้นในกรณีเช่นนี้จึงจำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ต่อไป เพื่อสิทธิตามกฎหมายของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ดังกล่าวข้างต้น
ปัญหาสุดท้ายที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ฎีกาว่า ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่ เห็นว่าแม้ศาลล่างทั้งสองจะมิได้วินิจฉัยข้อเท็จจริงในปัญหานี้ แต่ตามทางไต่สวนที่โจทก์และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ นำสืบมา พอวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ฉะนั้น เพื่อมิให้คดีชักช้าศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยไปเลยโดยไม่ต้องส่งสำนวนคืนไปยังศาลล่างเพื่อให้พิพากษาใหม่ สำหรับปัญหาที่ว่าจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ขาดนัดพิจารณาโดยจงใจหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ไม่ยอมเข้าไปในห้องพิจารณาเองโดยที่ไม่มีใครห้าม การขาดนัดพิจารณาของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นไปโดยจงใจ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่มีสิทธิขอให้พิจารณาคดีใหม่ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องของจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน.