แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่ เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจ โดยศาลอาจหยิบยกเหตุต่าง ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัยประกอบดุลพินิจก็ได้ เมื่อศาลใช้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยย่อมแสดงว่าศาลได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาและภาวะแห่งจิตของจำเลยตลอดจนเหตุอื่นแล้ว โดยศาลไม่จำเป็นต้องระบุถึงเหตุต่าง ๆ ตาม ป.อ. มาตรา 56 ให้ปรากฏโดยแจ้งชัดในคำพิพากษา นอกจากนี้ ป.อ. มาตรา 56 ก็มิใช่บทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือบทกำหนดโทษ และไม่ใช่กรณีที่ศาลรอการ ลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลจึงไม่ต้องปรับบทมาตราดังกล่าวในคำพิพากษา
การกระทำความผิดใดเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป และสภาพความผิดดังกล่าวศาลอาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้ หาเป็นการปรับบทลงโทษ คลาดเคลื่อนต่อ ป.อ. มาตรา 63 ไม่
เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้อ้างว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือน การที่ศาลมิได้นำ ป.อ. มาตรา 65 มาประกอบการวินิจฉัย จึงชอบแล้ว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 7, 8, 57, 91 พระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 102 (3 ทวิ), 127 ทวิ พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43 ทวิ, และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 6 เดือน หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยฎีกาว่า ไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้นำบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 มาปรับใช้ก่อนมีคำพิพากษา และในคำพิพากษาดังกล่าวมิได้มีถ้อยคำที่แสดงให้เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้คำนึงถึงอายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา และภาวะแห่งจิตดังที่ระบุไว้ในมาตราดังกล่าว เห็นว่า การจะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในดุลพินิจของศาล โดยศาลอาจหยิบยกเหตุต่าง ๆ ดังกล่าว หรือเหตุอื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ขึ้นวินิจฉัยประกอบดุลพินิจก็ได้ เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้ดุลพินิจไม่รอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยย่อมแสดงว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้คำนึงถึง อายุ ประวัติ อาชีพ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษา และภาวะแห่งจิตของจำเลยตลอดจนเหตุอื่นแล้ว เห็นว่าไม่สมควรที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยซึ่งไม่จำเป็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะต้องระบุถึงเหตุต่าง ๆ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ดังกล่าวให้ปรากฏโดยแจ้งชัดในคำพิพากษาด้วยแต่ประการใด นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ก็มิใช่บทมาตราซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดหรือบทกำหนดโทษ และไม่ใช่กรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะรอการ ลงโทษจำคุกให้แก่จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จึงไม่ต้องปรับบทมาตราดังกล่าวในคำพิพากษา ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ปรับบทลงโทษจำเลยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาประการที่สองว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ลงโทษจำเลยจากความผิดที่ไม่ใช่ผลธรรมดาโดยรับฟัง ข้อเท็จจริงว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนขณะขับรถยนต์บรรทุกย่อมเสี่ยงต่อการเกิดภยันตรายร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวม สมควรแก่การปราบปราม เป็นการนำการกระทำความผิดที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นมาปรับบทลงโทษจำเลยโดยถือว่าเป็น นโยบายปราบปราม จึงเป็นการปรับบทลงโทษคลาดเคลื่อนต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 นั้น เห็นว่า การกระทำความผิดใดเป็นภยันตรายร้ายแรงต่อสังคมส่วนรวมหรือไม่ เป็นข้อเท็จจริงที่รู้กันอยู่ทั่วไป และสภาพความผิดดังกล่าวศาลอาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยประกอบการพิจารณาลงโทษจำเลยได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 หยิบยกสภาพ ความผิดในคดีนี้ขึ้นวินิจฉัย จึงชอบที่จะกระทำได้ หาเป็นการปรับบทลงโทษคลาดเคลื่อนต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 63 ดังที่จำเลยกล่าวอ้างแต่อย่างใดไม่ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนที่จำเลยฎีกาประการที่สามว่า จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ภาวะสภาพจิตใจย่อมฟั่นเฟือนตามที่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 บัญญัติไว้ แต่ไม่ปรากฏว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้หยิบยกบทมาตราดังกล่าวมาประกอบ คำพิพากษาไว้ด้วยนั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นสอบคำให้การจำเลย จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โดยมิได้อ้างว่าจำเลยมีจิตฟั่นเฟือน ทั้งไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยมีจิตฟั่นเฟือน ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้นำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 มาประกอบการวินิจฉัย จึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ก็ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน.