แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลพิพากษาปรับ และให้บังคับตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะพิพากษาต่อมาประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ใช้บังคับ ศาลย่อมกักขังแทนค่าปรับตามกฎหมายใหม่ซึ่งเป็นคุณแก่จำเลย แม้คำพิพากษาที่ใช้กฎหมายเก่าจะถึงที่สุดไปแล้วก็ตาม
ย่อยาว
คดีนี้โจทก์ฟ้อง และจำเลยรับสารภาพว่า จำเลยกระทำผิดฐานรับของโจร และฐานฆ่ากระบือโดยไม่ได้รับอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2499 วางโทษจำเลยเมื่อลดแล้ว ให้จำคุกคนละ 1 ปี ปรับคนละ 100 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 18 และในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจำคุกระหว่างอุทธรณ์ฎีกา (หมายเหลือง) ไปตามนัยดังกล่าวแล้ว
ครั้นวันที่ 1 มกราคม 2500 ศาลชั้นต้นได้ออกหมายเหลืองอีกฉบับหนึ่ง เปลี่ยนเรื่อง ไม่ชำระค่าปรับเป็นให้กักขังแทนค่าปรับตามมาตรา 30 มีกำหนดคนละ 20 วัน และต่อมาวันที่ 18 มกราคม 2500 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในรายงานเจ้าหน้าที่ว่าให้ออกหมายใหม่ ใช้วิธีการกักขังแทนค่าปรับและถืออัตรา 5 บาทต่อ 1 วัน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 เป็นต้นไป
โจทก์อุทธรณ์คำสั่งว่า คดีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วจะแก้ไขคำพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีนั้นอีกไม่ได้ ที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ออกหมายใหม่นั้นเป็นการมิชอบ ขอให้ศาลอุทธรณ์หักเงินแทนค่าปรับโดยคิดอัตราวันละ 1 บาท ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาต่อมา
ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว จริงอยู่ตามธรรมดาเมื่อศาลใดได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งใดไปแล้ว ศาลนั้นจะมีคำสั่งแก้ไขเพิ่มเติมคำพิพากษานั้นอีกหาได้ไม่ เว้นแต่จะปรากฏว่ามีข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อยอื่น ๆ และมิได้มีการอุทธรณ์ หรือฎีกาคัดค้านคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น แต่อย่างไรก็ดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ได้บัญญัติเป็นข้อยกเว้นในกรณีที่กฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดให้ศาลมีอำนาจกำหนดโทษเสียใหม่ได้ แม้ในบางกรณีที่คดีนั้นได้ถึงที่สุดไปแล้ว
คดีนี้ศาลชั้นต้นได้พิพากษาและออกหมาย ลงวันที่ 28 ธันวาคม 2499 ให้ใช้วิธีการจำคุกแทนค่าปรับ โดยอัตราวันละ 1 บาท ตามกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลานั้น แต่ต่อมาได้มีคำสั่งลงวันที่ 18 มกราคม 2500 ให้ใช้วิธีการกักขังแทนค่าปรับและถืออัตรา 5 บาท ต่อหนึ่งวันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2500 (ซึ่งเป็นวันเริ่มใช้ประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่) เป็นต้นไป
ศาลนี้เห็นว่า การจำคุกแทนค่าปรับตามกฎหมายลักษณะอาญาหรือการกักขังแทนค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา ก็เป็นโทษอย่างเดียวกัน การที่ประมวลกฎหมายอาญากำหนดการกักขังแทนค่าปรับโดยอัตรา 5 บาท ต่อหนึ่งวัน จึงเป็นโทษที่เบากว่า ศาลชั้นต้นชอบที่จะกำหนดเสียใหม่ได้ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
ศาลนี้คงพิพากษายืน