คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5704/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 851 บัญญัติว่า อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ หมายความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความอาจทำขึ้นได้โดยไม่ต้องมีแบบของสัญญา แต่หากทำขึ้นโดยไม่มีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์จากสัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาได้ สัญญาประนีประนอมมีข้อความระบุความเสียหายทั้งหมดว่ามีประมาณ 12,000,000 บาท แต่เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไป ก. ซึ่งเป็นเจ้าของอาคารโกดังที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ตกลงยอมรับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท และขอสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายใดๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยทั้งสอง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กันจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 เมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้ ก. ครบถ้วนแล้ว ถือว่า ก. ได้สละสิทธิเรียกร้องใดๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองในเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไปแล้ว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความก็มีผลเพียงทำให้ ก. ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 851 เท่านั้น แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันขึ้นเสียไป เมื่อ ก. ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จึงมีผลทำให้โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจรับช่วงสิทธิจาก ก. มาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยความรับผิดต่อบุคคลภายนอกตกลงชดใช้ค่าเสียหายให้แก่บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ในฐานะเจ้าของและผู้ให้เช่าอาคารโกดังเป็นเงิน 3,000,000 บาท ส่วนค่าเสียหายระหว่างโจทก์ในฐานะผู้รับประกันภัยกับบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ในฐานะผู้เอาประกันภัยไม่สามารถตกลงกันได้
บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ยื่นข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ตามข้อพิพาทหมายเลขดำที่ 2/2547 ต่อมาอนุญาโตตุลาการชี้ขาดให้โจทก์ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด โดยชำระให้แก่บริษัทเงินทุนสินเอเชีย จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้รับผลประโยชน์เป็นผู้รับเงิน โจทก์ชำระเงิน 4,717,246.58 บาท ให้แก่บริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) ค่าวางหลักประกันอนุญาโตตุลาการ 180,000 บาท ให้แก่กรมการประกันภัย รวมค่าเสียหายที่โจทก์ชำระไปจากการเกิดเหตุอัคคีภัยเป็นเงิน 4,897,246.58 บาท เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2547 บริษัทเงินทุนสินเอเซีย จำกัด (มหาชน) รับเงินไปจากโจทก์แล้ว โจทก์จึงรับช่วงสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ผู้กระทำละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย 4,897,246.58 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินไป ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 6,037.70 บาท รวมเป็นเงิน 4,903,284.28 บาท และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้รับประกันภัยต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดต่อโจทก์ด้วย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 4,903,284.28 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 4,897,246.58 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 2,000,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 12,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดียกฟ้องในส่วนของจำเลยที่ 1 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า สำหรับปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ที่ว่า พยานหลักฐานเท่าที่นำสืบมารับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารโกดังเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรเป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในประเด็นนี้ ซึ่งศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ไว้แล้วว่าข้อนำสืบของจำเลยที่ 2 แสดงไม่ได้เลยว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารโกดังเป็นเหตุสุดวิสัยหรือเกิดเพราะความผิดของบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ฎีกาในประเด็นนี้โดยคัดลอกข้อความในอุทธรณ์หน้า 16 ถึงหน้า 20 มาทั้งหมด โดยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านว่าที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมานั้นไม่ชอบอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร อ้างเพียงแต่ว่าพยานหลักฐานเท่าที่นำสืบมารับฟังได้ว่าเหตุเพลิงไหม้อาคารโกดังเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่ใช่ความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับอุทธรณ์ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ในข้อนี้จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงประการเดียวว่า โจทก์รับช่วงสิทธิมาฟ้องจำเลยที่ 2 ได้หรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 ฎีกาว่า บริษัท ก.พัฒนากิ่งแก้ว จำกัดกับจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ถูกต้องแล้วแม้บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ลงลายมือชื่อฝ่ายเดียวก็บังคับได้ และบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด สละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายทั้งหมดต่อจำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์จึงไม่อาจรับช่วงสิทธิของบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด มาฟ้องได้ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 851 “อันสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือลายมือชื่อตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่” หมายความว่า สัญญาประนีประนอมยอมความอาจทำขึ้นได้โดยไม่ต้องมีแบบของสัญญา แต่หากทำขึ้นโดยไม่มีลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดแล้ว ฝ่ายที่ได้รับประโยชน์สัญญาประนีประนอมยอมความก็ไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีตามสัญญาได้เมื่อพิจารณาสัญญาประนีประนอมยอมความ ปรากฏว่าเป็นสัญญาที่คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายทำขึ้นเพื่อระงับข้อพิพาทในเหตุเพลิงไหม้อาคารโกดังที่เกิดเหตุ โดยมีข้อความระบุความเสียหายทั้งหมดไว้ด้วยว่ามีประมาณ 12,000,000 บาท แต่เพื่อเป็นการระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้นไป บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ตกลงยอมรับเงินจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3,000,000 บาท และขอสละสิทธิเรียกร้องในค่าเสียหายใด ๆ ทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อจำเลยทั้งสอง ข้อตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาซึ่งทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามมาตรา 850 และตามสัญญาดังกล่าวเมื่อจำเลยที่ 2 ชำระเงินให้บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ครบถ้วน ก็ต้องถือว่าบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ได้สละสิทธิเรียกร้องใด ๆ ที่มีต่อจำเลยทั้งสองในเหตุเพลิงไหม้ครั้งนี้ไปแล้ว แม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญาประนีประนอมยอมความ ก็มีผลเพียงทำให้บริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามมาตรา 851 เท่านั้น แต่ก็มิได้ทำให้สัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำกันขึ้นเสียไป เมื่อบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด ผู้เอาประกันภัยทำสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ติดใจเรียกร้องค่าเสียหายใด ๆ แก่จำเลยที่ 2 แล้ว จึงมีผลทำให้โจทก์ผู้รับประกันภัยไม่อาจรับช่วงสิทธิจากบริษัท ก. พัฒนากิ่งแก้ว จำกัด มาฟ้องเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยที่ 2 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 2 รับผิดต่อโจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 ฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share