คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5701/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาและจะเข้าทำประโยชน์ แต่จำเลยขัดขวางอ้างว่าเช่าที่พิพาทเพื่อทำนาจาก ช.คชก.ตำบลได้พิจารณาและมีคำสั่งว่าจำเลยไม่มีสิทธิเป็นผู้เช่านาและไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองบอกกล่าวให้จำเลยออกไป แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสองเสียหาย ฟ้องของโจทก์ทั้งสองได้แสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์ทั้งสอง และคำขอบังคับ อีกทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 172 วรรคสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองไม่เคลือบคลุม
ตามรายงานการประชุมของ คชก.ตำบล ปรากฏว่ามีรายชื่อผู้เข้าร่วมประชุม 9 คน ครบองค์ประชุม โดยจำเลยเข้าร่วมประชุมด้วย จึงมีกรรมการของ คชก.ตำบลเข้าร่วมประชุมเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งครบองค์ประชุมตามพ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม มาตรา 18 วรรคหนึ่ง ที่ประชุมมีมติว่าจำเลยไม่มีสิทธิเป็นผู้เช่านาและไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทจำเลยไม่เห็นด้วย แต่มิได้อุทธรณ์มติดังกล่าวต่อ คชก.จังหวัดภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ทราบคำวินิจฉัยของคชก.ตำบล แต่ต้องไม่เกิน 60 วัน นับแต่วันที่ คชก.ตำบลมีคำวินิจฉัย คำวินิจฉัยของ คชก.ตำบลจึงเป็นที่สุด ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา56 วรรคสอง จำเลยจึงไม่มีสิทธิที่จะทำนาในที่ดินพิพาทต่อไป โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องจำเลยได้
จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยในปัญหาที่ว่า มติของ คชก.ตำบล ชอบด้วยกฎหมายเพราะมีอำนาจวินิจฉัยหรือไม่ เป็นการไม่ชอบในปัญหานี้เป็นประเด็นเดียวกับเรื่องอำนาจฟ้อง ซึ่งจำเลยยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การและยังคงโต้แย้งตลอดมาจนถึงชั้นฎีกา แต่ศาลล่างทั้งสองไม่ได้วินิจฉัยไว้จึงเป็นการไม่ชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 131 (2) ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนให้ศาลล่างทั้งสองพิจารณาพิพากษาใหม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท จำเลยให้การต่อสู้ว่า จำเลยยังมีสิทธิทำนาในที่ดินพิพาทและ คชก.ตำบลไม่มีอำนาจวินิจฉัยและลงมติว่าจำเลยไม่มีสิทธิเป็นผู้เช่านาและไม่มีสิทธิซื้อที่ดินพิพาทตามคำร้องของโจทก์ทั้งสอง ดังนี้ ข้อพิพาทเกี่ยวด้วยการเช่าที่ดินพิพาทเพื่อทำนา คชก.ตำบลจึงมีอำนาจวินิจฉัยข้อพิพาทอันเกิดแต่การเช่าตามคำร้องของโจทก์ทั้งสองได้ ตาม พ.ร.บ.การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ มาตรา 13 (2) สำหรับฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง จึงเป็นฎีกาที่ไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย

Share