คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 570/2498

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ชายหญิงตกลงสมรสกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนเมื่อปรากฏว่าชายบิดพลิ้วไม่ยอมไปจดทะเบียนแล้วชายจะมาฟ้องเรียกเงินสินสอดและทองหมั้นคืนจากหญิงและบิดามารดาหญิงไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้สู่ขอจำเลยที่ 3 ต่อจำเลยที่ 1, 2 ผู้เป็นบิดามารดาและตกลงทำการสมรสกัน โจทก์มอบเงิน 20,000 บาทกับทองคำหนัก 6 บาทเป็นกองทุนสมรสแล้ว จำเลยที่ 1, 2 ไม่ยินยอมให้โจทก์กับจำเลยที่ 3 จดทะเบียนสมรสกัน โจทก์ขอเงินทุน 20,000 บาทไปลงทุนก็ไม่ให้จึงขอให้บังคับจำเลยคืนเงินและทอง

จำเลยต่อสู้ว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินสินสอดได้ใช้จ่ายซื้อเครื่องเรือนโจทก์จำเลยหมดไปแล้ว ทองตกเป็นสินส่วนตัวของจำเลยที่ 3 แล้ว โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกคืน จำเลยพร้อมที่จะให้จดทะเบียนสมรส

ศาลชั้นต้นฟังว่าเงินเป็นสินสอด ทองเป็นของหมั้น โจทก์บิดพลิ้วไม่จดทะเบียนสมรสเองจะเรียกสินสอดทองหมั้นคืนไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นว่าเงินและทองไม่ใช่สินสอดของหมั้นตามกฎหมายเป็นเงินและทองที่โจทก์ให้จำเลยเพื่อได้ตัวจำเลยที่ 3 มา โจทก์ฟ้องเรียกคืนในฐานะผิดสัญญา จึงเรียกคืนไม่ได้ พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่าเป็นเงินสินสอดและทองหมั้น การที่โจทก์และจำเลยที่ 3 ไม่ได้จดทะเบียนเป็นเพราะโจทก์บิดพลิ้ว ไม่ใช่เป็นความผิดของฝ่ายจำเลย โจทก์จึงจะมาขอเรียกคืนโดยอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1436 ไม่ได้ ส่วนที่ฎีกาว่าศาลชั้นต้นอนุญาตให้จำเลยระบุพยานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 ในวันสืบพยานโจทก์เป็นการไม่ชอบนั้นก็ไม่มีเหตุที่โจทก์จะอ้างได้ว่าศาลชั้นต้นให้อนุญาตผิดกฎหมายประการใดศาลฎีกาพิพากษายืน

Share