แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอก หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และโจทก์ประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นการขอให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 335, 357 ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ลงโทษจำคุก 3 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์หรือรับของโจร เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานยักยอก หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้องเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์และโจทก์ประสงค์จะให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ลงโทษจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานลักทรัพย์อันเป็นการขอให้เปลี่ยนแปลงผลคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์จะต้องกระทำโดยยื่นเป็นคำฟ้องอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น เมื่อโจทก์ไม่ได้ยื่นคำฟ้องอุทธรณ์ จึงไม่มีประเด็นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 จะต้องวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์จึงเป็นข้อที่มิได้ว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
พิพากษายกฎีกาของโจทก์