คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 569/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีความผิดอาญาแผ่นดิน อัยการบรรยายฟ้องว่าได้สอบสวนแล้ว
ย่อมสันนิษฐานได้ว่า เป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายแล้วหากจำเลยคัดค้านก็ทำได้โดยเสนอเป็นข้อต่อสู้ไว้ถ้าจำเลยไม่ต่อสู้ไว้ ก็ถือว่าไม่มีข้อโต้เถียงกันหากตามสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงที่แสดงว่าการสอบสวนนั้นไม่ชอบ จำเลยมาคัดค้านขึ้นในชั้นฎีกา ย่อมไม่มีเหตุที่จะวินิจฉัยให้

ย่อยาว

คดีเรื่องนี้ โจทก์ฟ้องกล่าวความว่า เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2498 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองบังอาจสมคบกันใช้มีดดาบเป็นสาตราวุธฟันนายสุพล อันติกานนท์ หลายที มีบาดแผลสาหัสหลายแห่งปรากฏตามรายงานการชันสูตรพลิกศพ และรายงานการตรวจศพท้ายฟ้องทั้งนี้โดยจำเลยเจตนาจะฆ่า นายสุพล อันติกานนท์ ให้ถึงแก่ความตายโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมาย อันเนื่องมาจากจำเลยโกรธเคือง นายสุพล อันติกานนท์ ที่รักใคร่ และติดต่อกับนางสาวสุนันท์ ปิ่นเจริญ บุตรสาวของจำเลยที่ 1 และเป็นน้องสาวของจำเลยที่ 2 เมื่อจำเลยทั้งสองทำร้ายแล้วยังสมคบกันนำตัว นายสุพลอันติกานนท์ ลงบรรทุกเรือ แล้วจำเลยที่ 2 ได้นำเรือไปล่มเพื่อให้นายสุพล อันติกานนท์จมน้ำถึงแก่ความตาย อันเป็นการกระทำด้วยการทรมานและแสดงความดุร้ายทำแก่ นายสุพล อันติกานนท์ ให้ได้ความลำบากอย่างสาหัส และเพื่อจะปกปิดการกระทำผิด และนายสุพล อันติกานนท์ได้จมน้ำถึงแก่ความตายสมดังเจตนาของจำเลย เหตุเกิดที่ตำบลบางตลาดอำเภอบางคล้าจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอให้ลงโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249-250

จำเลยทั้งสองปฏิเสธข้อหา

ศาลชั้นต้นทำการพิจารณาแล้ว ไม่เชื่อว่า นายสุพลเป็นคนร้ายขึ้นไปลักทรัพย์ดังข้อต่อสู้ของจำเลย หากแต่นายสุพลขึ้นไปหานางสาวสุนันท์ ฐานชู้สาวตามที่นัดแนะกันไว้ นายผดุงจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นพี่ชายของนางสาวสุนันท์ ได้ใช้มีดดาบฟันนายสุพล และยังได้ไล่ทำร้ายเรื่อยมาจนถึงแม่น้ำบางประกงแล้วนายผดุงจำเลยที่ 2 ได้เอาตัวนายสุพลลงเรือเล็กพายข้ามแม่น้ำและไปล่มเรือนั้นเสียเป็นเหตุให้นายสุพลจมน้ำตายไป จึงพิพากษาว่า นายผดุงจำเลยที่ 2ได้กระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250(3)(4) ให้ลงโทษประหารชีวิตแต่คำให้การของนายผดุง จำเลยที่ 2 ในชั้นศาลและชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีอยู่บ้าง ลดโทษให้ 1 ใน 3 ตามมาตรา 59 และ 37(1) คงจำคุกไว้มีกำหนด 20 ปี ส่วนตัวนายผันจำเลยที่ 1 หลักฐานพยานโจทก์ไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าได้ลงมือกระทำผิดร่วมด้วย จึงให้ยกฟ้องของโจทก์เฉพาะตัวนายผันจำเลยที่ 1 มีดของกลางให้ริบ

โจทก์และจำเลยที่ 2 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ในข้อเท็จจริงและเห็นต่อไปว่าเกิดเหตุขึ้นในทันที ไม่ปรากฏว่านายผดุงจำเลยที่ 2 ได้ฆ่าโดยความพยายามด้วยความพยาบาทมาดหมายจึงพิพากษาแก้บทลงโทษนายผดุงจำเลยที่ 2 เพียงมาตรา 250(4) เท่านั้นนอกจากนี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

นายผดุงจำเลยที่ 2 ผู้เดียวฎีกาต่อมา

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวน และประชุมปรึกษาแล้ว

ทางพิจารณาคดีโจทก์นำสืบว่า นายสุพลผู้ตายเคยทำงานอยู่ที่เสนารักษ์ จังหวัดลพบุรี มีความรู้ทางรักษาโรคอยู่บ้าง อยากหากินทางเป็นหมอรักษาโรค พระภิกษุฉะอ้อนจึงให้ไปอยู่ตำบลบางคล้าอำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยฝากฝังให้อยู่กับนายผันจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้าน แต่แล้วนายสุพลเกิดไปรักใคร่กับนางสาวสุนันท์บุตรสาวของนายผันจำเลยที่ 1 เข้า จึงต้องออกจากบ้านของนายผันจำเลยที่ 1 ไปอยู่กับนายประชุมซึ่งอยู่คนละฝั่งแม่น้ำกับบ้านของนายผันจำเลยที่ 1 ได้ประมาณ 2 เดือนก็เกิดเหตุเรื่องนี้คือเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2498 เวลาประมาณ 20.00 นาฬิกาเศษนายสุพลลอบเข้าไปในบ้านของนายผันจำเลยที่ 1 ตามที่นางสาวสุนันท์มีจดหมายนัดแนะให้ไปหา นายผดุงจำเลยที่ 2 พี่ชายของนางสาวสุนันท์พบเข้า จึงไล่ฟันตั้งแต่ในบ้าน ไปจนถึงแม่น้ำบางประกง นายสุพลโดดหนีลงไปในแม่น้ำ นายผดุงจำเลยที่ 2 ลงเรือไปสกัดไว้และจับตัวได้ ปรากฏว่ามีบาดแผลหลายแห่ง นายผันจำเลยที่ 1บอกให้นายผดุงจำเลยที่ 2 พาตัวนายสุพลไปส่งที่บ้านของนายประชุมเพื่อทำบาดแผลเสียก่อน นายผดุงจำเลยที่ 2 เอาตัวนายสุพลลงนอนในเรือนั้นและพายออกไปกลางแม่น้ำแล้ว นายผดุงจำเลยที่ 2 ล่มเรือนั้นเสีย ปล่อยให้นายสุพลจมน้ำตาย ส่วนตัวเองก็หลบหนีไป รุ่งขึ้นมีคนพบศพของนายสุพลลอยน้ำคว่ำหน้าอยู่ริมตลิ่งหน้าบ้านนายซุ่นบี๊มีบาดแผลปรากฏตามรายงานชันสูตรบาดแผลรวม 12 แผลคือ แผลที่ 1 ที่หูขวายาว 4 นิ้วกว้าง 2 นิ้ว หูขาดลึกถึงกระดูกแผลที่ 2 จากจมูกซ้ายถึงแก้มซ้ายยาว 5 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว ลึกถึงกระดูก แผลที่ 3จากหูซ้ายเฉียดแก้มถึงปลายคิ้วยาว 2 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว ลึกจดกระดูกแผลที่ 4 กลางศีรษะจากหน้าไปหลังยาว 3 1/2 นิ้ว กว้าง 1/2 นิ้วทลุกระโหลกศีรษะ แผลที่ 5 แขนขวาตรงข้อศอก กระดูกข้อศอกขาดยาว 2 นิ้ว กว้าง 1 1/2 นิ้ว แผลที่ 6 ข้อมือขวายาว 1 1/2 นิ้ว กว้าง 1 นิ้วลึกจดกระดูก แผลที่ 7 ศีรษะเหนือหูขวายาว2 นิ้ว กว้าง 1/2 นิ้ว ลึก 1/2 นิ้ว แผลที่ 8 มือซ้ายนิ้วกลางนิ้วนางขาดแผลที่ 9 หน้าผากเนื้อหายไปเป็นวงกลม 1/2 นิ้ว แผลที่ 10 ระหว่างนิ้วชี้กับนิ้วกลางมือขวาลึก 1/2 นิ้ว แผลที่ 11 ใต้ท้องแขนขวายาว 2 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว แผลที่ 12 หลังใต้ไหล่ซ้ายยาว 1 นิ้ว กว้าง 1 นิ้ว ลึก 1/4 นิ้ว เป็นแผลถูกของแข็งมีคมฟันโดยแรง

ฝ่ายจำเลยนำสืบว่า คืนเกิดเหตุเวลา 21.00 นาฬิกาเศษ มีคนร้ายงัดประตูด้านหลังขึ้นมาบนเรือน นายผดุงจำเลยที่ 2 ฉวยมีดยาวหัวตัดไล่ตามออกไปทันกันที่พื้นดินหน้าบันไดครัว คนร้ายเงื้อมีดดาบจะฟันนายผดุงจำเลยที่ 2 จึงใช้มีดฟันสวนไป 1 ที คนร้ายหนีไปทางแม่น้ำบางปะกงและโดดลงน้ำไป นายผดุงจำเลยที่ 2 ลงเรือติดตาม คนร้ายหนีเข้าไปซ่อนตัวอยู่ในป่าเถาวัลย์ริมตลิ่งไม่ยอมออกมามีคนมาดูริมตลิ่งหลายคนรวมทั้งนายผันจำเลยที่ 1 ด้วยนายผดุงจำเลยที่ 2 ส่งมีดหัวตัดของตนให้นายจ้อยถางป่าเถาวัลย์นั้นเพื่อจับตัวคนร้าย นายจ้อยถางป่าเถาวัลย์ประมาณ 10 นาที คนร้ายจึงออกมาให้จับ และปรากฏว่าเป็นนายสุพลมีบาดแผลอยู่แล้วโลหิตไหลเข้าใจว่าที่นายสุพลมีบาดแผลมากขึ้นเพราะถูกมีดที่นายจ้อยถางป่าเถาวัลย์นั้นเอง นายผันจำเลยที่ 1 บอกให้นายผดุงจำเลยที่ 2 พาตัวไปส่งบ้านนายประชุม จึงได้เอาตัวนายสุพลลงเรือพายข้ามฟากระหว่างที่อยู่กลางแม่น้ำ นายสุพลทุรนทุรายนอนบ้างนั่งบ้าง และในที่สุดล้มตัวลงนอน เรือนั้นเลยคว่ำและล่มลงไปเองขณะนั้นห่างตลิ่งประมาณ 15 วา นายผดุงจำเลยที่ 2 ช่วยพยุงตัวนายสุพล จะพาเข้าตลิ่ง แต่หมดแรงเสียก่อนจึงต้องปล่อยตัวนายสุพล และว่ายน้ำขึ้นตลิ่งไปตามลำพัง ส่วนตัวนายสุพลจะหายไปทางไหนไม่ทราบอนึ่ง นายผดุงจำเลยที่ 2 มิได้หลบหนีประการใดเลย เพราะจะต้องรีบเอาเงินไปให้น้องชายที่โรงเรียนช่างไม้ และเลยค้างเสียที่บ้านญาติกลับบ้านเอาวันที่ 6 สิงหาคม 2498 นายผันจำเลยที่ 1ก็พาตัวไปส่งต่อเจ้าพนักงาน

ปัญหาข้อแรกที่ควรได้รับการวินิจฉัยก่อน ก็คือ เรื่องอำนาจสอบสวนของนายจุมพล และนายพันตำรวจตรีบำรุง โดยฝ่ายจำเลยฎีกาคัดค้านว่านายจุมพล เป็นปลัดอำเภอเมืองฉะเชิงเทราเพียงแต่ทางราชการสั่งให้มาช่วยราชการชั่วคราวที่อำเภอบางคล้าเท่านั้น และนายพันตำรวจตรีบำรุงเป็นผู้กำกับการกองปราบปรามอยู่ในเขตจังหวัดพระนคร เจ้าพนักงานทั้งสองนายนี้ จะมีอำนาจทำการสอบสวนคดีเรื่องนี้ ได้จริงหรือไม่เป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์มีหน้าที่ที่จะต้องนำสืบพิสูจน์ หาใช่เป็นข้อกฎหมายที่ศาลจะต้องรู้เองไม่ ดังนั้น เมื่อโจทก์มิได้นำสืบพิสูจน์ในเรื่องอำนาจดังกล่าวนี้ก็ต้องรับฟังว่าไม่มีอำนาจที่จะทำการสอบสวนได้โจทก์จึงยังไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 120

ปัญหาอันเกี่ยวด้วยเรื่องอำนาจสอบสวนของเจ้าพนักงาน ผู้ทำการสอบสวนซึ่งจำเลยเสนอขึ้นมานี้ ศาลฎีกาเห็นว่าในคดีที่กล่าวหาอันเป็นความผิดทางอาญาแผ่นดินนั้น เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องและได้ระบุโดยชัดแจ้งว่าพนักงานสอบสวนได้สอบสวนความผิดไว้แล้ว ย่อมเป็นการเพียงพอที่จะกระทำให้เข้าใจ และสันนิษฐานได้ว่าเป็นการสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วหากจำเลยมีข้อข้องใจและประสงค์ที่จะคัดค้านเรื่องอำนาจสอบสวนของเจ้าพนักงาน ในลักษณะเช่นนี้ ก็มีสิทธิที่จะทำได้ โดยเสนอประเด็นข้อต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้น เพื่อทั้งสองฝ่ายจะได้นำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริง ในเหตุเรื่องนี้กันต่อไปให้เป็นที่ประจักษ์ในการพิจารณาของศาลชั้นต้น แต่เรื่องนี้จำเลยมิได้ต่อสู้คัดค้านประการใดถึงความข้อนี้ไว้ในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น ซึ่งฎีกาของจำเลยเองก็ยอมรับว่าเป็นเช่นนั้นจริง จึงถือได้ว่าปัญหาในเรื่องนี้เป็นอันผ่านพ้นไปแล้ว เพราะคดีไม่มีประเด็นข้อโต้เถียงกันประการใดในเหตุเรื่องนี้และตามท้องสำนวนไม่มีข้อเท็จจริงอันใดที่จะให้วินิจฉัยได้ว่า การสอบสวนนั้นไม่ชอบ ดังนั้นแม้จำเลยจะยกเหตุเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวอ้างเป็นข้อฎีกาด้วยก็ดีศาลฎีกาก็เห็นว่าไม่มีเหตุอันใดที่จะวินิจฉัยให้

สำหรับข้อเท็จจริงแห่งคดี ศาลฎีกาได้ตรวจหลักฐานและถ้อยคำพยานของทั้งสองฝ่ายแล้วเห็นว่า โจทก์มีพยานหลายปากแม้แต่พระภิกษุฉะอ้อนก็ได้ทราบเรื่องนายสุพลกับนางสาวสุนันท์รักใคร่กัน จนถึงนายสุพลต้องออกจากบ้านของนายผันไปอยู่บ้านนายประชุมตั้ง 2 เดือนมาแล้ว แต่การติดต่อระหว่างหนุ่มสาวคู่นี้ยังคงดำเนินต่อมา โดยเด็ดชายธงชัยเป็นคนรับส่งจดหมายให้ถึงกันและกัน จดหมายของนางสาวสุนันท์ที่มีถึงนายสุพลก็แสดงประกอบอยู่เป็นหลักฐาน และมีข้อความนัดแนะให้นายสุพลไปหาที่บ้าน และว่าจะจับสุนัขไว้ให้ดังนี้เป็นต้น รูปคดีจึงเชื่อได้ ในเหตุเบื้องต้นว่า นายสุพลขึ้นไปบนเรือนของนายผันเพราะการนัดแนะของนางสาวสุนันท์นั้นเอง

ที่จำเลยโต้แย้งคัดค้านว่านายสุพลเป็นคนร้ายขึ้นไปบนเรือนเพื่อจะลักทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ขณะเกิดเหตุเพียงเวลาประมาณ 20.00นาฬิกาเศษ หรือ 21.00 นาฬิกาเท่านั้น เป็นเวลาหัวค่ำเกินไปผู้คนยังไม่ทันนอนหลับสนิททั่วกัน และไม่ปรากฏว่า มีทรัพย์สิ่งใดหายไปนายสุพลเคยอยู่ในบ้านหลังนี้มาก่อน ไม่เคยมีชื่อเสียงเสียหายในเรื่องลักทรัพย์ คดีจึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะให้น่าเชื่อดังข้อต่อสู้ของจำเลยนั้นได้

ปัญหาที่ว่าใครเป็นคนทำร้ายนายสุพลนั้น ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกฟ้องเฉพาะตัวนายผันจำเลยที่ 1 ไปแล้วคดีคงเหลือข้อพิจารณาสำหรับตัวนายผดุงจำเลยที่ 2 คนเดียวเท่านั้น

โจทก์มีนายจ้อย นายล้อม ได้ยินเสียงร้องให้ช่วยโดยร้องว่า “ช่วยด้วยตายแล้ว” ตั้งแต่ในบ้านของจำเลยออกไปจนไปถึงริมตลิ่งแม่น้ำบางปะกง แถวหน้าบ้านนายเล็บก็ได้ยินเสียงร้องให้ช่วยดังนั้นอยู่อีก จึงพากันวิ่งไปดูเห็นนายผันยืนอยู่บนตลิ่งนายสุพลลอยคออยู่ในน้ำ นายผดุงจำเลยที่ 2 อยู่ในเรือห่างกันราว 1 วาเศษ นายสุพลเรียกให้นายจ้อยช่วยโดยว่า “ลุงจ้อยช่วยผมด้วยนายผดุงฟันผมป่น” ข้อนี้นายผดุงจำเลยเองก็ให้การรับว่าได้ฟันนายสุพล 1 ที ที่หน้าบันไดครัวแล้ววิ่งไล่ติดตามตลอดทางมาจนถึงริมตลิ่งเช่นนั้น ซึ่งรับสมถ้อยคำพยานโจทก์ แสดงให้เห็นว่านายผดุงจำเลยเป็นคนฟันนายสุพลตั้งแต่ในบ้านจนมาถึงริมตลิ่งดังที่ปรากฏอยู่นั้น

ข้อที่นายผดุงจำเลย พยายามนำสืบว่าได้ฟันนายสุพลไปเพียงทีเดียวนั้น รับฟังไม่ได้ เพราะนายผดุงจำเลยรับว่า วิ่งไล่ติด ๆ กันออกจากบ้านมาลำพังเพียง 2 คนเท่านั้น ไม่มีคนอื่นร่วมด้วยอีกเลยแต่บาดแผลของนายสุพลมีถึง 11-12 แผล ตามศีรษะ หน้า แขน และมือแสดงว่านายสุพลเป็นฝ่ายรับอยู่ตลอดเวลา อีก 10 หรือ 11 แผลนั้นใครเล่าเป็นคนทำร้าย ข้อนี้ นายผดุง จำเลยแก้เกี้ยวไปว่าถูกคมมีดที่นายจ้อยถางป่าเถาวัลย์ในภายหลัง ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วก็ไม่เห็นมีเหตุผลที่จะเป็นไปได้อย่างไร ขณะนั้นมีคนมาอยู่ด้วยกันหลายคนแล้วและนายสุพลก็ไม่ใช่คนร้ายอะไร เพียงแต่ขึ้นไปหาบุตรสาวของเขาและถูกเขาไล่ฟันมาดังได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ไม่เห็นมีเหตุผลอะไรที่นายสุพลจะยอมทนเจ็บให้ถูกฟันอีกตั้ง 10 แผลจึงได้ออกมาให้เขาจับตัว ดังที่จำเลยพยายามกล่าวแก้

ข้อหาประการสุดท้ายเรื่องนายผดุงจำเลยเจตนาล่มเรือเสีย เพื่อให้นายสุพลต้องจมน้ำตายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าการที่นายผดุงจำเลยพาตัวนายสุพลลงเรือข้ามแม่น้ำไป หาใช่เป็นการกระทำโดยพลการตนเองไม่หากแต่นายผันซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านและเป็นบิดาของตนเห็นว่านายสุพลได้รับบาดเจ็บมาก ควรพาตัวไปทำบาดแผลที่บ้านของนายประชุมซึ่งนายสุพลพักอยู่ และนายสุพลก็เป็นหมออยู่เองมีกระเป๋ายาอยู่ที่นั้น และได้สั่งให้นายผดุงจำเลยพาตัวไป นายผดุงจำเลยจึงได้พาไปดังนั้น คดีไม่มีพฤติการณ์อันใดจะส่อให้เห็นว่า นายผดุงจำเลยตั้งใจจะเอาเรือนั้นไปล่ม และโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่า นายผดุงจำเลยได้ล่มเรือลำนั้น นายผดุงจำเลยนำสืบว่า ระหว่างกลางแม่น้ำนายสุพลทุรนทุรายผุดลุกผุดนั่งแล้วล้มตัวลงนอนทำให้เรือตะแคงล่มลงไป นายผดุงจำเลยได้ช่วยพยุงตัวนายสุพลจะพาเข้าฝั่ง แต่หมดกำลังเสียก่อน ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่านายสุพลอาจทุรนทุรายเพราะพิษบาดแผลที่ถูกฟันนั้น สมจริงดังข้อต่อสู้ของนายผดุงจำเลยก็ได้ อนึ่ง การที่นายผดุงจำเลยหลบหนีไปเสียนั้น อาจเนื่องจากความกลัว เพราะจำเลยได้ฟันเขามาใหม่ ๆ ซ้ำร้ายเรือเกิดมาล่มโดยจำเลย ไม่สามารถจะช่วยเหลือเขาไว้ทันก็เป็นได้ ยังไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะให้สันนิษฐานได้โดยตระหนักแน่ว่า นายผดุงจำเลยได้จงใจล่มเรือลำนั้นเพื่อฆ่านายสุพล ข้อเท็จจริงยังเป็นที่น่าสงสัยอยู่มากในเหตุการณ์ตอนนี้ ควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลยโดยยกข้อหาในตอนนี้เสีย

บาดแผลของนายสุพลมีถึง 12 แผล ที่ศีรษะ 3 แผล กระดูกขากรรไกรขวาด้านล่างขาด ถูกเส้นโลหิตใหญ่ กระดูกข้อมือขาด 2 ชิ้นนายแพทย์ลงความเห็นว่า ถูกของแข็งมีคมตาย เพราะเสียโลหิตมากนายผดุงจำเลยจึงมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา

อาศัยเหตุผลทั้งหลายดังกล่าวมา ศาลฎีกาจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า นายผดุงจำเลยได้กระทำผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 249 ให้ลงอาญาจำคุก 20 ปี ลดฐานปรานีตามมาตรา 59 เสีย 1 ใน 3 คงเหลือ 13 ปี 4 เดือน นับแต่วันต้องขังไปนอกจากที่แก้ไขนี้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share