แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์โดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อน แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตดังกล่าวก็เป็นวันที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องขอให้ขายทอดตลาดที่ดินของจำเลยที่ 1 ด้วย ทนายความของจำเลยที่ 1 มาศาลและแถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า สอบทนายโจทก์และทนายผู้สวมสิทธิโจทก์แล้วไม่ค้าน กรณีดังกล่าวย่อมแสดงว่าทนายความของจำเลยทั้งสองทราบในวันนั้นแล้วว่าผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เช่นกันเมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้นภายใน 8 วันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมให้จำเลยทั้งสองชำระเงิน 9,603,283.27 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 7,800,065.45 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นงวด แต่ต้องให้แล้วเสร็จใน 7 ปี กับให้ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่ไม่สั่งคืนและค่าทนายความ 7,000 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำขอออกหมายบังคับคดีอ้างว่าจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษาตามยอม และมีการนำยึดที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ต 12 แปลง และยึดที่ดินซึ่งตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร 1 แปลง จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการบังคับคดี ในที่สุดศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของจำเลยทั้งสอง ต่อมาวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 1 ถึงที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตรวมกัน และขายทอดตลาดที่ดินแปลงที่ 6 ถึงที่ 12 ซึ่งตั้งอยู่ที่จังหวัดภูเก็ตแยกกัน กับขอให้ไต่สวนเกี่ยวกับการที่โจทก์โอนหนี้รายของจำเลยทั้งสองให้แก่ผู้อื่น และขอให้งดการขายทอดตลาดไว้ก่อน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนและงดการขายทอดตลาดไว้ ในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2549 ซึ่งเป็นวันนัดไต่สวนคำร้องข้างต้นบริษัทบริหารสินทรัพย์ สตาร์ จำกัด ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้บริษัทดังกล่าวเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ได้ และหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยทั้งสองทราบ แต่ในวันนัดไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสองดังกล่าว ทนายจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอเลื่อนคดี ในที่สุดศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องของจำเลยทั้งสองในวันที่ 25 มิถุนายน 2550 ก่อนถึงวันนัด ในวันที่ 18 มิถุนายน 2550 จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องว่า จำเลยทั้งสองยังไม่ได้รับหมายแจ้งคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวที่อนุญาตให้บริษัทบริหารสินทรัพย์ สตาร์ จำกัด เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ และศาลชั้นต้นยังไม่ได้ไต่สวนข้อคัดค้านการโอนขายหนี้ตามคำร้อง ลงวันที่ 16 พฤษภาคม 2549 ของจำเลยที่ 1 ขอให้เพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้สวมสิทธิและไต่สวนข้อคัดค้านการโอนขายหนี้
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำร้องของจำเลยที่ 1 แล้ว มีคำสั่งยกคำร้องค่าคำร้องเป็นพับ
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “…แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์โดยไม่แจ้งให้จำเลยทั้งสองทราบก่อนก็ตาม แต่ในวันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตดังกล่าวนั้นก็เป็นวันที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไต่สวนคำร้องของจำเลยที่ 1 ด้วย ทนายความของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นทนายความของจำเลยที่ 2 ด้วยเช่นกันมาศาลและแถลงขอเลื่อนคดี ศาลชั้นต้นบันทึกรายงานกระบวนพิจารณาว่า สอบทนายโจทก์และทนายผู้สวมสิทธิโจทก์แล้วไม่ค้าน
กรณีดังกล่าวย่อมแสดงว่าทนายความของจำเลยทั้งสองทราบในวันนั้นแล้วว่า ผู้ร้องได้รับอนุญาตให้เข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์เช่นกัน เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้โต้แย้งคัดค้านคำสั่งที่ผิดระเบียบดังกล่าวของศาลชั้นต้นภายใน 8 วันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 27 วรรคสอง จำเลยที่ 1 ย่อมหมดสิทธิคัดค้านกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องและศาลอุทธรณ์
ภาค 8 พิพากษายืนนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในส่วนของโจทก์กับจำเลยที่ 2 และให้ยกอุทธรณ์และฎีกาของจำเลยที่ 2 คืนค่าขึ้นศาลในชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้แก่จำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีการะหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ