แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ได้รับสิทธิให้เดินเรือกลประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามลำน้ำเจ้าพระยาโดยเก็บค่าโดยสารแต่ผู้เดียว จำเลยเพียงแต่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือกลจากกรมเจ้าท่า และอยู่ในระหว่างยื่นเรื่องราวขออนุญาตเดินเรือกลประจำทาง ในเส้นทางพิพาทต่อกรมเจ้าท่า การที่จำเลยเดินเรือกลประจำทางในเส้นทางเดินเรือเดียวกับโจทก์และทับเส้นทางที่โจทก์เดินเรืออยู่ ใช้ท่าเรือร่วมกันบางท่าและเก็บค่าโดยสารเช่นเดียวกับโจทก์ เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายและจงใจให้เกิด ความเสียหายแก่โจทก์เป็นละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย และห้ามมิให้จำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่จำเลย ยังมิได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า กรณีมิใช่เป็นเรื่องระหว่างจำเลยและกรมเจ้าท่าเท่านั้น
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเรือกล ใช้ชื่อว่า”เรือด่วนเจ้าพระยา เดิมได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้เดินเรือกลประจำทางรับส่งคนโดยสารตามลำน้ำเจ้าพระยา จากท่าเรืออำเภอเมืองนนทบุรีถึงท่าเรือถนนตก แล้วต่อมาวันที่2 เมษายน 2533 โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้ขยายเส้นทางเดินเรือจากเดิมเป็นท่าเรือสุขาภิบาลปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ถึงท่าเรือวัดราชสิงขร เขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร จำเลยได้เดินเรือกลประจำทางรับส่งคนโดยสารจากท่าเรือ สุขาภิบาลปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ถึงท่าเรือ บ.ข.ส.สายใต้ กรุงเทพมหานคร ทับเส้นทางเดินเรือของโจทก์จากท่าเรือท่าช้างวังหลัง กรุงเทพมหานคร โดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นการละเมิดต่อโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายวันละ 4,000 บาท นับถึงวันฟ้องเป็นเวลา 65 วัน คิดเป็นเงิน 260,000 บาท ขอให้ห้ามจำเลยเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารระหว่างท่าเรือสุขาภิบาลปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ถึงท่าเรือท่าช้างวังหลวง กรุงเทพมหานคร ให้จำเลยใช้ค่าเสียหาย 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ กับค่าเสียหายอีกวันละ 4,000 บาท นับจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะหยุดเดินเรือทับเส้นทางโจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ขยายเส้นทางเดินเรือกลจากเดิมไปจนถึงท่าเรือสุขาภิบาลปากเกร็ด จำเลยเดินเรือกลโดยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และใช้ท่าเทียบเรือจอดรับส่งคนโดยสารคนละท่ากับโจทก์ ไม่ทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาห้ามไม่ให้จำเลยเดินเรือกลประจำทางรับส่งคนโดยสารตามลำน้ำเจ้าพระยาระหว่างท่าเรือสุขาภิบาลปากเกร็ดจังหวัดนนทบุรี ถึงท่าช้างวังหลวง กรุงเทพมหานคร ทับเส้นทางการเดินเรือของโจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 177,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จและใช้ค่าเสียหายอีกวันละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะเลิกเดินเรือกลของทับเส้นทางโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหามาสู่ศาลฎีกาที่ต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายประเด็นแรกว่า จำเลยได้กระทำละเมิดต่อโจทก์หรือไม่เห็นว่า แม้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประชาชนมีสิทธิที่จะใช้ประโยชน์สัญจรไปมาได้ แต่การประกอบธุรกิจการเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารจะต้องขออนุญาตต่อกรมเจ้าท่าซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบ โดยก่อนจะออกใบอนุญาตให้นั้นจะต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการเพื่อพิจารณาเกี่ยวกับเรือกลประจำทางซึ่งกรมเจ้าท่าแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อคณะกรรมการและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเห็นชอบแล้ว กรมเจ้าท่าถึงจะอนุมัติเส้นทางเดินเรือและจุดจอดเรือ เรือที่ใช้เดิน กำหนดเวลาการเดินเรือและจะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมเจ้าท่าว่าด้วยการพิจารณาและออกใบอนุญาตให้เรือกลเดินประจำทาง พ.ศ. 2533 ตามที่ระบุไว้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้เดินเรือกลจากท่าวัดราชสิงขรถึงท่าสุขาภิบาลปากเกร็ดตามหนังสืออนุมัติของกรมเจ้าท่า เอกสารหมาย จ.4 ซึ่งโจทก์จะต้องปฏิบัติตามระเบียบของกรมเจ้าท่าดังกล่าว แสดงว่ารัฐให้สิทธิประโยชน์แก่โจทก์โดยพิจารณาจากความเหมาะสมต่าง ๆแล้วจึงออกใบอนุญาตให้ เมื่อโจทก์ได้รับสิทธิให้เดินเรือกลประจำทางรับส่งผู้โดยสารตามลำน้ำเจ้าพระยาโดยเก็บค่าโดยสารแต่ผู้เดียว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยเพียงแต่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือกลจากกรมเจ้าท่าตามเอกสารหมาย ล.3และอยู่ในระหว่างยื่นเรื่องราวขออนุญาตเดินเรือกลประจำทางในเส้นทางพิพาทต่อกรมเจ้าท่าในการประกอบกิจการเดินเรือกลรับส่งผู้โดยสาร โดยที่ยังมิได้รับอนุญาตให้เดินเรือกลประจำทางได้ในเส้นทางเดินเรือเดียวกับโจทก์และทับเส้นทางที่โจทก์เดินเรืออยู่ ใช้ท่าเรือร่วมกันบางท่าและเก็บค่าโดยสารเช่นเดียวกับโจทก์ เป็นการกระทำโดยผิดกฎหมายและจงใจให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยในประเด็นต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิห้ามการเดินเรือกลของจำเลยหรือไม่ จำเลยฎีกาว่า การเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารในลำน้ำเจ้าพระยามิได้มีกฎหมายกำหนดให้สิทธิแก่รัฐแต่ผู้เดียวในการให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบกิจการเดินเรือกลเสียก่อนจึงจะสามารถเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารได้เช่นการเดินรถประจำทาง จำเลยเพียงแต่ขึ้นทะเบียนเรือกลรับส่งคนโดยสารตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 ก็มีสิทธิเดินเรือกลในแม่น้ำเจ้าพระยาได้ และการขออนุมัติเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารประจำทางจากกรมเจ้าท่าเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับกรมเจ้าท่าจึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยเดินเรือกลในแม้น้ำเจ้าพระยาได้ และการขออนุมัติเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารประจำทางจากกรมเจ้าท่าเป็นเรื่องระหว่างจำเลยกับกรมเจ้าท่า จึงไม่เป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยเดินเรือกลรับส่งคนโดยสารนั้นเห็นว่า การเดินเรือกลประจำทางรับส่งคนโดยสารเป็นประจำตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 กำหนดให้ผู้ประกอบการเดินเรือจะต้องได้รับอนุญาตให้เดินเรือกลรับจ้างบรรทุกคนโดยสารประจำทางจากกรมเจ้าท่าเสียก่อนจึงจะดำเนินการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางที่ได้รับอนุญาตได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุอยู่ในระหว่างที่จำเลยยื่นเรื่องราวขออนุญาตเดินเรือกลประจำทางจากกรมเจ้าท่า แม้จำเลยจะได้ขึ้นทะเบียนเรือกลรับส่งคนโดยสารตามเอกสารหมาย ล.3 ถึง ล.6 และได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย พ.ศ. 2456 จำเลยก็เพียงแต่มีสิทธิเดินเรือกลตามปกติในลำน้ำเจ้าพระยาตามที่ได้รับอนุญาตให้ใช้เรือกลในลำน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น ตราบใดที่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้เดินเรือกลประจำทางกรมเจ้าท่า จำเลยหามีสิทธิรับส่งคนโดยสารในเส้นทางเช่นเดียวกับโจทก์ที่ได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้เดินเรือด่วนและเรือด่วนพิเศษไม่เพราะเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิห้ามมิให้จำเลยกระทำการดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาที่จำเลยยังมิได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่า กรณีดังกล่าวหาเป็นเรื่องระหว่างจำเลยและกรมเจ้าท่าดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
อนึ่งได้ความจากคำแถลงการณ์และคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฎีกาของจำเลยว่า จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้จำเลยประกอบกิจการเดินเรือกลประจำทาง ตามใบอนุญาตเลขที่ 45, 46, 47, 48/2536 ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 แล้ว ดังนั้นนับแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2536 การที่จำเลยเดินเรือกลประจำทางรับส่งผู้โดยสารในเส้นทางพิพาท จึงไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์โจทก์ควรได้รับค่าเสียหายเป็นรายวันจนถึงวันดังกล่าว”
พิพากษาแก้ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายวันละ 3,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนถึงวันที่จำเลยได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้เดินเรือกลประจำทางรับส่งผู้โดยสารได้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์