คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5664/2540

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ก่อนเกิดเหตุผู้ตายเข้ามาต่อว่าและตบหน้าจำเลยจำเลยโมโหจึงชักปืนยิงผู้ตาย 3 นัด ซึ่งในขณะเกิดเหตุมีผู้อยู่ในเหตุการณ์เพียง 3 คน คือ อ. พยานโจทก์จำเลย และผู้ตาย อ. ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยหรือผู้ตายมาก่อน จึงเป็นพยานคนกลาง พยานปากนี้จึงมีน้ำหนักมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยแล้ว จำเลยเพียงแต่เกรงว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทั้งที่ยังไม่พฤติการณ์ที่จะส่อว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทำร้ายจำเลยและไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืนจึงถือว่ายังไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกันแต่อย่างใดการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตามกฎหมาย โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 72โจทก์ร่วมขอขยายเวลาอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2ไม่อนุญาต จึงถือว่าโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวต้องถือว่าปัญหาดังกล่าวสำหรับโจทก์ร่วมได้ยุติแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ดังนั้นแม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาโจทก์ร่วมมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 32, 33, 91, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน วัตถุระเบิดดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ,72, 72 ทวิ และริบหัวกระสุนปืนขนาด .357 จำนวน 1 นัด ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางกลิ่ม พันปี มารดาผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 72, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืนเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิงและสิ่งเทียมอาวุธปืนพ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสองเรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 15 ปี ฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจำคุก 6 เดือน และฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมาย เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯมาตรา 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง อันเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 6 เดือน รวมจำคุก 16 ปีลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมาย มาตรา 78 คงจำคุก 10 ปี 8 เดือนของกลางริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นจำคุก 12 ปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 ปี เมื่อรวมกับโทษสำหรับความผิดอื่นอีก 2 กระทงแล้ว รวมจำคุก 8 ปี 8 เดือนนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วมและจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า ผู้ตายเข้าใจว่านางสาววันรอนภริยากับจำเลยซึ่งทำงานอยู่ด้วยกันที่โรงพยาบาลคลองขลุง ที่เกิดเหตุเป็นชู้กันตามวันเวลาและสถานที่เกิดตามฟ้อง ขณะจำเลยนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานหน้าตึกผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลดังกล่าว ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์เข้าไปจอดที่หน้าตึกแล้วเดินไปที่โต๊ะทำงานจำเลยพูดท้าทายจำเลย แต่จำเลยไม่โต้ตอบต่อมาผู้ตายตบหน้าจำเลย จำเลยใช้อาวุธปืนพกยิงผู้ตาย 3 นัดถูกผู้ตายที่บริเวณลำคอด้านหน้า ต้นแขนซ้าย และเหนืออกด้านซ้ายถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่โจทก์มีนายอนันต์ คงไทย เป็นพยานเบิกความว่า ขณะเกิดเหตุพยานเป็นยามอยู่โรงพยาบาลและนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานกับจำเลย ผู้ตายเข้ามาต่อว่าจำเลยและตบหน้าจำเลยอย่างแรงพอสมควร แต่ไม่แรงมากจำเลยชักปืนยิงผู้ตาย 3 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกผู้ตายพอสิ้นเสียงปืนจำเลยวิ่งหนีไปทางหลังโรงพยาบาลและตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตอนได้ยินเสียงปืนเห็นผู้ตายยืนอยู่ในลักษณะมือทั้งสองข้างวางขนาบไปกับลำตัว ส่วนจำเลยเบิกความว่าเหตุที่ยิงผู้ตายเนื่องจากโมโหที่ผู้ตายตบหน้า และผู้ตายเลิกเสื้อกันหนาว จำเลยเกรงว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทำร้ายจำเลยเห็นว่า ขณะเกิดเหตุบริเวณที่เกิดเหตุอยู่กันเพียง 3 คน คือนาอนันต์ พยานโจทก์ จำเลย และผู้ตาย นายอนันต์ พยานโจทก์ไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยหรือผู้ตายมาก่อน จึงเป็นพยานคนกลางพยานปากนี้จึงมีน้ำหนักมาก ยิ่งกว่านั้นเมื่อพิจารณาคำเบิกความของจำเลยแล้ว จำเลยเพียงแต่เกรงว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทั้งที่ยังไม่มีพฤติการณ์ที่จะส่อว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทำร้ายจำเลย และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืน จึงถือว่ายังไม่มีภยันตรายที่จำเลยจะต้องป้องกันแต่อย่างใด ดังนั้น การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตามกฎหมาย
ปัญหาต่อไปที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ร่วมว่า การกระทำของจำเลยเป็นการฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา ไม่ใช่การกระทำโดยบันดาลโทสะและข้อนำสืบของจำเลยไม่เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ใช้ดุลพินิจลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 เป็นการไม่ชอบนั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 ประกอบมาตรา 72 โจทก์ร่วมขอขยายเวลาอุทธรณ์ แต่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 ไม่อนุญาต จึงถือว่าโจทก์ร่วมไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าว ดังนี้ ถือว่าปัญหาดังกล่าวสำหรับโจทก์ร่วมได้ยุติแล้ว โจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกา ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะฎีกาโจทก์ร่วมมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย
ส่วนปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า ขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษนั้นเห็นว่า สำหรับความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 นั้น เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งรูปคดีแล้ว การที่ผู้ตายเพียงแต่ตบหน้าจำเลย แต่จำเลยยิงผู้ตายถึง 3 นัด จึงเห็นว่าโทษที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กำหนดมานั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงแก้ไข ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น ส่วนความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมืองหมู่บ้าน ทางสาธารณะ โดยไม่มีเหตุอันควรและไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง,72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง นั้น ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกกระทงละ4 เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน จึงต้องห้ามมิให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 218 วรรคแรก แม้ศาลชั้นต้นจะรับฎีกาของจำเลยไว้พิจารณาแต่ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัยให้”
พิพากษายืน

Share