แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถชนรถโจทก์โดยละเมิดโดยต่างคนต่างประมาทและไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครประมาทมากน้อยกว่ากันจึงต้องฟังว่าประมาทเท่าเทียมกัน ศาลมีอำนาจกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตนกระทำขึ้นต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-0240สงขลา จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-3466 พิจิตรด้วยความประมาท เลี้ยวรถตัดหน้าอย่างกะทันหัน โดยเปลี่ยนจากช่องเดินรถฝั่งซ้ายมายังฝั่งขวาเพื่อกลับรถ เป็นเหตุให้รถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 10-0666 สงขลา ของจำเลยที่ 3 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 ขับตามรถจำเลยที่ 1 ความเร็วสูงในช่องเดินรถกับจำเลยที่ 1 หักหลบรถจำเลยที่ 1 พุ่งเข้าชนรถโจทก์ ซึ่งขับสวนทางมาได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ด้วย โจทก์ต้องซ่อมแซมรถเป็นเงิน 81,090 บาท ต้องเสื่อมสภาพคิดเป็นเงิน 150,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 2,982.55 บาท รวม 234,072.55 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันและแทนกันชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวนดังกล่าวกับดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 81,090 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า เหตุเกิดเพราะความประมาทของคนขับรถของโจทก์และจำเลยที่ 2 ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ขับรถตัดหน้ารถจำเลยที่ 2ซึ่งขับมาด้วยความเร็วปกติ ในระยะกระชั้นชิดเป็นเหตุให้จำเลยที่ 2หักหลบและชนกับรถโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทนำสินประกันภัย จำกัดเข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยร่วมให้การว่า เหตุเกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1ฝ่ายเดียว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมกันชำระเงินจำนวน 121,090 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 81,090 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก จำเลยที่ 1 และจำเลยร่วมอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามและจำเลยร่วม ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 101,690 บาทให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จากเงิน61,690 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2531 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น จำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ฟังข้อเท็จจริงมาว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน น-3466 พิจิตรและจำเลยที่ 2 ผู้ขับรถยนต์กระบะหมายเลขทะเบียน 10-0666 สงขลาลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ระหว่างเกิดเหตุขับรถหมายเลขทะเบียน10-0666 สงขลา ของจำเลยที่ 3 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3ต่างขับรถด้วยความประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นเหตุให้ชนรถโจทก์โดยละเมิด และระหว่างเกิดเหตุจำเลยร่วมเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถของจำเลยที่ 3 จำเลยร่วมฎีกาปัญหาข้อกฎหมายข้อแรกว่าศาลอุทธรณ์ภาค 3 มิได้หยิบยกข้อกฎหมายที่จำเลยร่วมอุทธรณ์ว่าหากฟังว่าจำเลยทั้งสามและจำเลยร่วมจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์จำเลยที่ 1 ฝ่ายหนึ่งและจำเลยที่ 2 ที่ 3กับจำเลยร่วมอีกฝ่ายหนึ่งจะต้องแบ่งความรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์คนละครึ่งจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 3 ได้วินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่างขับรถโดยประมาทไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์คราวเดียวกัน และความเสียหายที่เกิดขึ้นก็ไม่อาจแบ่งแยกความรับผิดได้ จึงต้องรับผิดร่วมกันนั้นเป็นการวินิจฉัยแล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2ต่างกระทำละเมิดไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน ควรแบ่งส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อโจทก์อย่างไรหรือไม่แล้ว ฎีกาของจำเลยร่วมข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ปัญหาต่อไปตามที่จำเลยร่วมฎีกามีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดร่วมกันเป็นการไม่ชอบเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นกรณีต่างคนต่างกระทำแม้ทำให้โจทก์เสียหายในคราวเดียวกันก็ไม่ใช่กรณีร่วมกันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 432เมื่อค่าเสียหายของโจทก์มีจำนวนที่แน่นอนแล้วจะต้องแบ่งส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ฝ่ายละครึ่งนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างคนต่างประมาทและไม่อาจแบ่งแยกได้ว่าใครประมาทมากน้อยกว่ากันจึงต้องฟังว่าประมาทเท่าเทียมกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีอำนาจกำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามพฤติการณ์ที่จำเลยที่ 1และที่ 2 กระทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ตนกระทำขึ้นได้”
พิพากษายืน