คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5652/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กู้เงินจากบริษัทในเครือของโจทก์เพื่อนำเงินมาประกอบกิจการโดยต้องเสียดอกเบี้ยให้บริษัทในเครือจริง จึงเป็นรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิได้ มิใช่รายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9) การที่โจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีบางส่วนให้แก่จำเลยแล้ว ศาลย่อมมีคำพิพากษาให้นำเงินภาษีบางส่วนที่โจทก์ชำระแล้วมาหักออกจากเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระทั้งหมดได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินทำการตรวจสอบบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีของโจทก์ ในรอบระยะเวลาบัญชี พ.ศ. 2514-2517พบว่าโจทก์มีรายจ่ายต้องห้ามตาม มาตรา 65 ตรี (3)(9)(13)(18) กับถือว่าโจทก์มีรายได้เพิ่มขึ้นตาม มาตรา 65 ทวิ (4) ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า โจทก์ไม่มีสิทธินำมาหักเป็นรายจ่ายและมีรายได้เพิ่มขึ้น จึงได้ทำการปรับปรุงกำไรสุทธิของโจทก์ในรอบระยะเวลาบัญชีดังกล่าวเสียใหม่ และคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเงินที่โจทก์ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งสิ้น 1,308,128.15 บาทโจทก์เห็นว่ายังคลาดเคลื่อน จำนวนภาษีที่เจ้าพนักงานประเมินมานั้นสูงไปกว่าที่โจทก์ควรจะต้องชำระโจทก์ยื่นอุทธรณ์การประเมิน คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าการประเมินของเจ้าพนักงานประเมินเป็นการถูกต้องและชอบแล้ว จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนคำสั่งให้เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินเพิ่มตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ 1080/2/00102 ถึง 1080/2/00105 และให้เพิกถอนคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 328 ก. ถึง ง./2532/1
จำเลยให้การว่า การที่คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ได้มีคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้โจทก์นำเงินภาษีจำนวนที่ได้ชำระไว้แล้วมาชำระซ้ำอีกครั้งประเด็นข้อโต้แย้งดังกล่าวโจทก์ไม่เคยยื่นคัดค้านไว้ในคำอุทธรณ์คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่อาจรับพิจารณาชี้ขาดในคำวินิจฉัยอุทธรณ์ได้และโจทก์ก็ไม่มีสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายที่จะนำประเด็นนี้มายื่นฟ้องต่อศาลได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลที่1080/2/00102-1080/2/00105 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์เลขที่ 328 ก.ถึง 328 ง./2532/1 เฉพาะรายจ่ายดอกเบี้ยในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ถือให้เป็นรายจ่าย โดยให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีนั้น ๆ ได้ และเมื่อปรับปรุงการคำนวณกำไรสุทธิ ภาษี และเงินเพิ่มใหม่แล้ว ให้หักเงินภาษีที่โจทก์ชำระไว้แล้วจำนวน349,635.85 บาท ออกจากจำนวนเงินภาษีที่โจทก์จะต้องชำระเพิ่ม
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายและตรวจสอบภายในให้บริษัทในเครือเมื่อปี พ.ศ. 2519 เจ้าพนักงานประเมินออกหมายเรียกตรวจสอบการเสียภาษีอากรของโจทก์สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2514-2517จากการตรวจสอบบัญชีเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ พบว่ารายจ่ายของโจทก์บางรายการ กฎหมายไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายไม่อาจนำมาคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิได้ ในปี พ.ศ. 2522 เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้โจทก์เสียภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี พ.ศ. 2514-2517 เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1,308,128.15 บาทโจทก์ชำระภาษีดังกล่าวแล้วจำนวน 349,635.85 บาท และอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ให้ลดภาษีอากรที่เรียกเก็บในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีลงโดยถือว่าดอกเบี้ยที่จ่ายให้บริษัทผลิตภัณฑ์อิฐสยาม จำกัด พ.ศ. 2515จ่ายให้บริษัทผลิตภัณฑ์อิฐสยาม จำกัด บริษัทออร์คิดล็อดจ์ จำกัดปี พ.ศ. 2516 และจ่ายให้บริษัทเครื่องจักรกลสยาม จำกัดปี พ.ศ. 2517 เป็นรายจ่ายที่โจทก์นำหลักฐานมาพิสูจน์ได้ว่าได้จ่ายให้แก่บริษัทผู้ให้ยืมเงินจริงและลดเงินเพิ่มลงให้เรียกเก็บเพียงร้อยละ 50 ของเงินเพิ่มตามกฎหมาย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่า เงินค่าดอกเบี้ยรายการใดเป็นรายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองได้ไม่มีการจ่ายจริง เห็นว่า โจทก์มีพยานบุคคลมาสืบแทนพยานเอกสารที่จำเลยทำลายไปแล้วว่าบริษัทอิตัลอุตสาหกรรมไทย จำกัด บริษัทไทยโรงแรม จำกัดบริษัทสยามผลิตภัณฑ์คอนกรีตและอิฐ จำกัด หรือบริษัทผลิตภัณฑ์อิฐสยาม จำกัด บริษัทออคิดล็อดจ์ จำกัด และบริษัทนิภาล็อดจ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของโจทก์ได้รับดอกเบี้ยไปเรียบร้อยแล้วตามใบแจ้งหนี้หรือใบรับสภาพหนี้ การจ่ายดอกเบี้ยกฎหมายก็มิได้บังคับว่าต้องทำเป็นหนังสือ โจทก์กู้เงินจากบริษัทในเครือเดียวกันเพื่อนำเงินมาประกอบกิจการย่อมจะต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันเป็นรายเดือนตามประเพณีนิยม ดังนั้น การที่โจทก์ได้ชำระดอกเบี้ยให้บริษัทในเครือดังกล่าวไปแล้วจริงจึงเป็นรายจ่ายที่นำมาคำนวณกำไรสุทธิได้มิใช่รายจ่ายซึ่งโจทก์กำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริงตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ (9)
มีปัญหาต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ต่อไปว่า เงินภาษีที่โจทก์ชำระให้จำเลยหลังจากปรับปรุงการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิแล้วนำมาหักภาษีที่โจทก์ได้ชำระไว้แล้วได้หรือไม่ เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ค่าภาษีบางส่วนให้แก่จำเลยแล้ว ศาลภาษีอากรกลางย่อมมีคำพิพากษาให้นำเงินภาษีบางส่วนที่โจทก์ชำระแล้วมาหักออกจากเงินภาษีที่โจทก์ต้องชำระทั้งหมดได้
พิพากษายืน

Share