คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5648/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 กันยายน 2541 โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ไม่มาศาล ส่วนจำเลยที่ 3 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ 3 ป่วยเป็นไข้หวัดไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์นั้นเป็นการสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) ซึ่งมีผลห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ และมิใช่กรณีที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งโดยผิดหลงตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องและให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ซึ่งมีผลเท่ากับให้โจทก์มีโอกาสนำพยานเข้าสืบใหม่ คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกระบวนพิจารณาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นมานั้นย่อมไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย

ย่อยาว

กรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงิน 81,808,542.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 25 ต่อปี จากเงินต้น 52,000,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ชำระให้ยึดที่ดินที่จำเลยที่ 2 นำมาจำนองพร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาดชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ หากบังคับจำนองแล้วโจทก์ยังได้รับชำระหนี้ไม่ครบถ้วน ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ จำเลยที่ 3 ให้การขอให้ยกฟ้อง ในวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก จำเลยที่ 3 ขอเลื่อนคดีและได้เลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 15 กันยายน 2541 ในวันดังกล่าวนี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่มาศาล ส่วนจำเลยที่ 3 มอบฉันทะให้เสมียนทนายยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าทนายจำเลยที่ 3 ป่วยเป็นไข้หวัด ไม่อาจมาศาลได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทราบนัดโดยชอบแล้วไม่มาศาลและไม่แจ้งเหตุขัดข้อง ให้จำหน่ายคดีโจทก์เสียจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ และเมื่อศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 3 อีก ในวันเดียวกันโจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีอ้างเหตุว่าทนายโจทก์เดินทางไปต่างจังหวัด ระหว่างทางรถยนต์ของทนายโจทก์ขัดข้องต้องซ่อมแซมและทนายโจทก์ไม่อาจติดต่อมายังศาลชั้นต้นได้ ไม่ได้จงใจขาดนัดพิจารณาแต่อย่างใด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ป.วิ.พ. มาตรา 201 ห้ามมิให้โจทก์ขอให้พิจารณาคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมิได้สั่งโดยผิดหลง ไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนหรือยกเลิกคำสั่ง ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
วันที่ 22 กันยายน 2541 โจทก์ยื่นคำร้องว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์วันที่ 15 กันยายน 2541 จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ไม่มาศาล ส่วนโจทก์ยังมาไม่ถึงศาล จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีอ้างว่าป่วย ศาลชั้นต้นควรสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 3 ก่อนที่จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แต่ศาลชั้นต้นกลับสั่งจำหน่ายคดีก่อนเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง จึงเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของโจทก์และสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 3 พร้อมกับนัดสืบพยานโจทก์ต่อไป ศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้อง
ในวันนัดไต่สวนคำร้องวันที่ 21 มกราคม 2542 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ โจทก์ไม่มาศาลและศาลได้มีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ออกจากสารบบความโดยที่ศาลยังมิได้พิจารณาสั่งคำร้องขอเลื่อนคดีของจำเลยที่ 3 เสียก่อน เป็นการไม่ถูกต้อง หากมีเหตุผลสมควรที่จะให้เลื่อนคดีตามคำร้องของจำเลยที่ 3 วันนัดดังกล่าวก็จะมิใช่วันนัดสืบพยานโจทก์อีกต่อไป จึงให้งดไต่สวนและให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีซึ่งได้สั่งไปตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 15 กันยายน 2541 และให้สืบพยานโจทก์จำเลยต่อไปในวันที่ 7 เมษายน 2542 จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าว
ระหว่างพิจารณาธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน) ยื่นคำร้องขอเข้าสวมสิทธิเป็นคู่ความแทนโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต และจำเลยที่ 1 ถูกศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดในคดีอื่น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงขอให้ศาลชั้นต้นสั่งจำหน่ายคดีนี้เฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีเฉพาะส่วนของจำเลยที่ 1 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 52,891,825 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในเงินต้นดังกล่าวนับแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2538 จนถึงวันชำระเสร็จแก่โจทก์ หากไม่ชำระให้ยึดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่จำนองไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้แก่โจทก์จนครบ ให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ซึ่งได้สั่งให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและให้นัดสืบพยานโจทก์ตามที่ศาลชั้นต้นสั่งไว้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2542
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันวันที่ 15 กันยายน 2541 ให้จำหน่ายคดีของโจทก์นั้น เป็นการสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 201 (เดิม) ซึ่งมีผลห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งหรือมีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ และกรณีมิใช่เป็นการที่ศาลชั้นต้นสั่งโดยผิดหลงตามนัยแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 27 ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นในทำนองขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบและขอพิจารณาคดีใหม่ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งนัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ ต่อมาศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งงดไต่สวนคำร้องของโจทก์และให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีแล้วมีคำสั่งให้นัดสืบพยานโจทก์ต่อในวันที่ 7 เมษายน 2542 ซึ่งมีผลเท่ากับให้โจทก์ได้มีโอกาสนำพยานเข้าสืบใหม่ ดังนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยบทบัญญัติของกระบวนพิจารณาตามมาตรา 201 (เดิม) แห่ง ป.วิ.พ. และการที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งของศาลชั้นต้นมานั้น คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ย่อมไม่ชอบเช่นกัน ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย
พิพากษากลับเป็นว่าให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาตั้งแต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นัดไต่สวนคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 22 กันยายน 2541 ที่ขอเพิกถอนคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์ ให้ยกคำร้องของโจทก์ฉบับวันที่ 22 กันยายน 2541 ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ.

Share