คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5646/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดได้ร่วมกันทำไม้พยุงอันเป็นไม้หวงห้ามโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสิบเอ็ดกับพวกได้รับไว้โดยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งไม้หวงห้ามของกลางดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484 เป็นคำฟ้องที่บรรยายครบองค์ประกอบความผิดแล้วหาเป็นคำฟ้องที่ขัดกันเองอันจะทำให้เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการในความผิดฐานใด และทางพิจารณาปรากฎว่าจำเลยได้กระทำผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดนั้น ศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ หาจำต้องบรรยายฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนไม่และบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ก็มิใช่บทมาตราที่บัญญัติว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิด จึงหาจำต้องระบุอ้างมาในคำฟ้องไม่ โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดคนร่วมกันมีไม้พยุงเกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร โดยไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูปอันเป็นข้อหาฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484มาตรา 69 วรรคสอง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในทางพิจารณาซึ่งเป็นความผิดอันรวมอยู่ในความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษ แต่มีโทษเบากว่า ย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ยังคงวางโทษเท่ากับโทษที่ศาลชั้นต้นวางมาในฐานเป็นตัวการในความผิดทั้งสองกระทง โดยมิได้กำหนดโทษให้น้อยลงในฐานเป็นผู้สนับสนุน จึงเป็นการวางโทษที่หนักเกินไปศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมและเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 8ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกา และจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาให้ได้ลดโทษดุจจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ที่ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปีศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 73 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86ส่วนอัตราโทษยังคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นการแก้ไขเล็กน้อย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 6 และที่ 7 เป็นเพียงลูกจ้างขนไม้ไปตามคำสั่งของนายจ้างโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการหากต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจะต้องออกจากราชการ จึงมีเหตุที่ศาลจะรอการลงโทษนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91 พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 11,47, 48, 69, 70, 73, 74, 74 ทวิ, 74 จัตวา พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2494 มาตรา 6, 16, 17 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 12, 17 พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19 พระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 3, 4, 5, 6, 7, 8, 9 ริบไม้และรถยนต์บรรทุกทั้ง 7 คันของกลาง คืนรถยนต์เก๋งคันหมายเลขทะเบียน นม.16500 แก่เจ้าของ และจ่ายสินบนนำจับแก่ผู้นำจับตามกฎหมายด้วย
จำเลยทั้งสิบเอ็ดให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดมีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 48, 69, 70, 73พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2518 มาตรา 19พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2525 มาตรา 3, 4ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปนั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7และที่ 8 มีความผิดตามมาตรา 69 วรรคหนึ่ง ส่วนจำเลยที่ 5ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 มีความผิดตามมาตรา 69 วรรคสองฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูป จำเลยทั้งสิบเอ็ดมีความผิดตามมาตรา 73 วรรคสอง แต่ให้ใช้บทบัญญัติที่แก้ไขใหม่โดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2522 มาตรา 3 และมาตรา 7 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำความผิดและเป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดแทนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3ฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปให้จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 1 ปี และให้จำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 คนละ 2 ปีส่วนฐานมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองให้จำคุกจำเลยทั้งสิบเอ็ด คนละ 2 ปีรวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8คนละ 3 ปี และจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 คนละ4 ปี คำให้การในชั้นจับกุม ชั้นสอบสวนและทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสามคงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 และที่ 8 คนละ 2 ปีและจำคุกจำเลยที่ 5 ที่ 9 ที่ 10 และที่ 11 คนละ 2 ปี 8 เดือนริบไม้และรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน สบ.22796 ฉช.02921ชบ.54505 และ ฉช.01352 (ส่วนรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียนฉช.80 – 0118 นม.28160 และ อย.08740 ศาลได้สั่งคืนเจ้าของไปแล้ว) ให้คืนรถยนต์เก๋งหมายเลขทะเบียน นม.16500 แก่เจ้าของส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคแรกประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมีความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปตามมาตรา 73 วรรคสอง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10 และที่ 11 ฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้จำเลยที่ 10 และที่ 11 ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ระหว่างพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องขอถอนฎีกา ศาลอนุญาต ส่วนจำเลยที่ 4 ถึงแก่ความตาย สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 และที่ 4ออกจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 ที่ 7 ที่ 10และที่ 11 ฎีกาว่า คำฟ้องของโจทก์ที่เกี่ยวกับพระราชบัญญัติป่าไม้ มาตรา 70 ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า เป็นการฎีกาเกี่ยวกับคำฟ้องในข้อ 2 ก.ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า “เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2523 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับรถยนต์บรรทุก รวม 7 คัน ซึ่งภายในรถยนต์บรรทุกทั้ง 7 คันดังกล่าวบรรทุกไม้พยุง ฯ ยังมิได้แปรรูปจำนวน 15 ท่อน และแปรรูปถาก กลมจำนวน 133 ท่อน รวมทั้งหมด 148 ท่อน จะต้องเสียค่าภาคหลวงรวม 8,432.80 บาท และไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับไว้ และตามวันเวลาดังกล่าวเจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 9 และต่อมาจำเลยที่ 10และที่ 11 ได้เข้ามอบตัว ทั้งนี้เมื่อระหว่างวันที่ 8สิงหาคม 2523 เวลากลางคืนหลังเที่ยงถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2523เวลากลางวันติดต่อกัน จำเลยทั้งสิบเอ็ดได้ร่วมกันทำไม้พยุงฯอันเป็นไม้หวงห้าม โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมาย หรือมิฉะนั้นระหว่างเวลาดังกล่าวจำเลยทั้งสิบเอ็ดกับพวกได้รับไว้โดยประการใด ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งไม้หวงห้ามของกลางดังกล่าว โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นไม้ที่ได้มาโดยการกระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ.2484” เช่นนี้ ย่อมมีความหมายว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดทำไม้หรือมิฉะนั้นก็รับไม้ไว้ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งไม้นั้นอันรู้อยู่แล้วว่ามีผู้ได้ทำไม้โดยผิดกฎหมายนั่นเอง เป็นเรื่องที่จะต้องฟังจากพยานหลักฐานต่อไปว่า จำเลยทั้งสิบเอ็ดเป็นผู้ทำไม้เอง หรือเป็นเพียงผู้รับไว้ ซ่อนเร้น จำหน่ายหรือพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งไม้นั้นหาเป็นคำฟ้องที่ขัดกันเอง อันจะทำให้ฟ้องไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่และเป็นคำฟ้องที่บรรยายครบองค์ประกอบความผิดแล้ว
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ที่ว่าฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการมีไม้ที่ยังไม่ได้แปรรูปและที่แปรรูปแล้วโดยผิดกฎหมาย มิได้บรรยายฟ้องว่าจำเลยเป็นผู้สนับสนุนและอ้างมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญามาด้วย ศาลจึงไม่อาจที่จะลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้นั้น เห็นว่า เมื่อโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเป็นตัวการในความผิดฐานใดและทางพิจารณาปรากฎว่าจำเลยได้กระทำผิดเพียงฐานเป็นผู้สนับสนุนในความผิดนั้นศาลก็ย่อมลงโทษจำเลยฐานเป็นผู้สนับสนุนได้ หาจำต้องบรรยายฟ้องว่าเป็นผู้สนับสนุนไม่ และบทบัญญัติมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาก็มิใช่บทมาตราที่บัญญัติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดจึงหาจำต้องระบุอ้างมาในคำฟ้องไม่
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ที่ว่าข้อหาความผิดตามฟ้องข้อ ค. โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปไม่มีรอยตราค่าภาคหลวงหรือรอยตรารัฐบาลขายประทับไว้ เป็นเนื้อไม้เกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน และพิสูจน์ไม่ได้ว่าได้มาโดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลอุทธรณ์ฟังข้อเท็จจริงว่าไม้หวงห้ามยังมิได้แปรรูปบรรทุกอยู่ในรถยนต์บรรทุกแต่ละคันเนื้อไม้ไม่ถึง 4 ลูกบาศก์เมตร จำเลยจึงไม่มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องนั้น เห็นว่า ข้อหาฐานความผิดตามฟ้องข้อ 2 ค. นั้นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสิบเอ็ดคนร่วมกันมีไม้พยุงหรือคะยุงหรือแดงจีนจำนวน 15 ท่อน คิดเป็นเนื้อไม้ 5.15 ลูกบาศก์เมตรซึ่งเป็นเนื้อไม้เกินกว่า 4 ลูกบาศก์เมตร โดยไม้ดังกล่าวยังมิได้แปรรูป อันเป็นข้อหาฐานความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคสอง แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.2484 มาตรา 69 วรรคแรก ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ตามข้อเท็จจริงที่ฟังได้ในทางพิจารณาซึ่งเป็นความผิดอันรวมอยู่ในความผิดที่โจทก์ขอให้ลงโทษเบากว่า ย่อมเป็นการชอบด้วยกฎหมายแล้ว แต่ที่ศาลอุทธรณ์ยังคงวางโทษเท่ากับโทษที่ศาลชั้นต้นวางมาในฐานเป็นตัวการในความผิดทั้งสองกระทง โดยมิได้กำหนดโทษให้น้อยลงในฐานเป็นผู้สนับสนุน จึงเป็นการวางโทษที่หนักเกินไป ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมและเหตุดังกล่าวเป็นเหตุอยู่ในส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 8 ที่มิได้อุทธรณ์และฎีกา และจำเลยที่ 3 ที่ถอนฎีกาให้ได้ลดโทษดุจจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ที่ฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาขอให้รอการลงโทษนั้น เห็นว่าคดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้พ.ศ. 2484 มาตรา 69 วรรคหนึ่ง และมาตรา 73 วรรคสอง จำคุกคนละ 2 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6และที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 69วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และมาตรา 73วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ส่วนอัตราโทษยังคงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น เป็นการแก้ไขเล็กน้อยจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคแรกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6 และที่ 7 ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 6และที่ 7 เป็นเพียงลูกจ้างขนไม้ไปตามคำสั่งของนายจ้างโดยเฉพาะจำเลยที่ 1 เป็นข้าราชการหากต้องคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจะต้องออกจากราชการ จึงมีเหตุที่ศาลจะรอการลงโทษนั้นเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวจึงไม่รับวินิจฉัย
สำหรับฎีกาของจำเลยที่ 10 และที่ 11 ที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้ร่วมครอบครองไม้รายนี้และจำเลยไม่รู้ว่าไม้ของกลางรายนี้เป็นไม้ที่ผิดกฎหมายนั้น ในข้อนี้ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงคดีฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า จำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บอกทหารเวรรักษาการณ์ว่า กองบัญชาการทหารสูงสุดจะมีการขนถ่ายโดยไม่เป็นความจริง และต่อมาเมื่อมีรถบรรทุกหลายคันรายเกิดเหตุบรรทุกไม้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาเพื่อจะเข้าไปในบริเวณท่าเรือทุ่งโปร่ง จำเลยที่ 10 และที่ 11 ได้บอกให้ทหารยามปล่อยให้รถบรรทุกแล่นเข้าไปโดยไม่ให้จดหมายเลขทะเบียนรถ ต่อมาจำเลยที่ 11 ได้เสนอให้เงินแก่เรือเอกประจวบหัวหน้าชุดรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ปกปิดข้อไม้ที่อยู่ในรถบรรทุกนั้นเป็นไม้ผิดกฎหมาย เมื่อเรือเอกประจวบปฎิเสธ ไม่รับเงิน จำเลยที่ 11 จึงได้ให้รถบรรทุกไม้เหล่านั้นกลับออกไปจากบริเวณท่าเรือทุ่งโปร่ง และจากพฤติการณ์เหล่านี้ฟังได้ต่อไปว่า จำเลยที่ 10 และที่ 11 รู้ว่ารถบรรทุกเหล่านั้นบรรทุกไม้ที่มีไว้ผิดกฎหมายมา จำเลยที่ 10และที่ 11 รับเอาไม้เหล่านั้นไว้ซ่อนเร้นหรือช่วยพาเอาไปเสียให้พ้นซึ่งไม้เหล่านั้น โดยรู้แล้วว่าเป็นไม้ที่มีผู้ได้มาโดยการกระทำผิดฐานมีไม้เหล่านั้นไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายซึ่งตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2480 มาตรา 70 จำเลยที่ 10และที่ 11 ต้องมีความผิดฐานเป็นตัวการในการกระทำผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปกระทงหนึ่งและฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปอีกกระทงหนึ่ง ตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองและโทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยที่ 10 และที่ 11 โดยไม่รอการลงโทษนั้นเหมาะสมแก่รูปคดีแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 6ที่ 7 และที่ 8 ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามอันยังมิได้แปรรูปวางโทษจำคุกคนละ 8 เดือน ความผิดฐานมีไม้หวงห้ามแปรรูปวางโทษจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 2 ปี เมื่อลดโทษหนึ่งในสามแล้ว คงจำคุกคนละ 1 ปี 4 เดือน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share