คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5636/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาและเรียกร้องค่าเสียหายจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา แต่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 หยุดชำระค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ทั้งโจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา การที่โจทก์มาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธต่างๆ หลายประการ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีจึงมีเพียงว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดในคดีอาญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็น แม้โจทก์จะอ้างสัญญาเช่าซื้อแนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่โจทก์อยู่ในบังคับที่จะต้องบรรยายสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นให้ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่อ้างเพียงเอกสารท้ายฟ้องซึ่งมีข้อตกลงต่างจากที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหาบรรยายฟ้องมา แล้วจะถือเอาว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องในเรื่องนั้น ๆ มาแล้วหาได้ไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดอาญาเป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ 6 เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่โจทก์มิได้ฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์จะฎีกาในปัญหานี้ได้ เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อแก่โจทก์แล้ว 15 งวด ครั้งสุดท้ายเป็นการชำระของงวดวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่างวด การที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2548 เป็นต้นมา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ การที่โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และอาศัยเป็นเหตุในการเลิกสัญญาและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ต่อมา ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่าเช่าซื้อเอง อันเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง ทั้งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอริบรถยนต์ที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกริบ ถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนโจทก์ ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ดีหากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคาแทน 402,500 บาท ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าเสียหาย 55,100 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 2,900 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนหรือใช้ราคาแทนพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 457,600 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ หมายเลขทะเบียน บน 4745 สุพรรณบุรี ไปจากโจทก์ ในราคา 508,440.96 บาท ตกลงชำระเป็นงวดรายเดือนเดือนละ 7,556 บาท รวม 72 งวด เริ่มชำระงวดแรกวันที่ 10 พฤษภาคม 2547 งวด ต่อไปชำระภายในวันที่ 10 ของทุกเดือนจนกว่าจะครบ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังทำสัญญาเช่าซื้อจำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อ 15 งวด ครั้งสุดท้ายเป็นการชำระงวดวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลางในคดีที่นางสาวสมหญิง บุตรสาวของจำเลยที่ 1 กับนายปริญญา ถูกดำเนินคดีในข้อหามียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องรถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเป็นของกลางแล้ว เดือนกรกฎาคม 2548 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อไปยังจำเลยที่ 1 แจ้งให้หยุดชำระค่าเช่าซื้อเนื่องจากสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ตามหนังสือบอกเลิกสัญญาลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2548 พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ริบรถยนต์ที่เช่าซื้อเนื่องจากเป็นทรัพย์ที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ตามคำร้องขอริบทรัพย์ จำเลยที่ 1 ติดต่อขอให้โจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอริบทรัพย์ดังกล่าว แต่โจทก์ไม่ยินยอมและไม่ได้ยื่นคำคัดค้านคำร้องขอริบทรัพย์แต่อย่างใด ต่อมาศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนางสาวสมหญิง ตามคำพิพากษาคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 632/2549 ของศาลจังหวัดลพบุรี โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาอ้างเหตุจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน ตามสำเนาหนังสือขอให้ชำระหนี้และบอกกล่าวเลิกสัญญา ลงวันที่ 1 กันยายน 2549
ที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์เพราะจำเลยที่ 1 อนุญาตให้นางสาวสมหญิง บุตรสาวเอารถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดอาญาเป็นเหตุให้รถถูกริบเป็นของกลางเป็นการผิดสัญญาเช่าซื้อ นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือ ใช้ราคาและเรียกร้องค่าเสียหายจำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยทั้งสองมิได้เป็นฝ่ายผิดนัดผิดสัญญา แต่โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 หยุดชำระค่าเช่าซื้อเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 ทั้งโจทก์มิได้ใช้สิทธิร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา การที่โจทก์มาฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดจึงเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต และอ้างเหตุแห่งการปฏิเสธต่างๆ หลายประการ จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้อง แต่จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีจึงมีเพียงว่า จำเลยทั้งสองผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกันตามฟ้องหรือไม่ และโจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีโดยสุจริตหรือไม่เท่านั้น ไม่มีประเด็นว่าจำเลยที่ 1 นำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดในคดีอาญาตามข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อ หรือไม่ เพราะเป็นเรื่องข้อเท็จจริงนอกฟ้องนอกประเด็น แม้โจทก์จะอ้างสัญญาเช่าซื้อ แนบมาท้ายฟ้องซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องก็ตาม แต่โจทก์อยู่ในบังคับที่จะต้องบรรยายสภาพแห่งข้อหาทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหานั้นให้ปรากฏในคำฟ้อง มิใช่อ้างเพียงเอกสารท้ายฟ้องซึ่งมีข้อตกลงต่างจากที่โจทก์ตั้งสภาพแห่งข้อหาบรรยายฟ้องมา แล้วจะถือเอาว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องในเรื่องนั้นๆ มาแล้วหาได้ไม่ ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์ เพราะจำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้ในการกระทำความผิดอาญา เป็นการผิดข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ เป็นการอุทธรณ์ในข้อที่โจทก์มิได้ฟ้อง อุทธรณ์ของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ แม้ศาลอุทธรณ์จะวินิจฉัยอุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ก็เป็นการไม่ชอบ ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่โจทก์จะฎีกาในปัญหานี้ได้ เพราะเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตหรือไม่ เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติตามที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์แล้ว 15 งวด ครั้งสุดท้ายเป็นการชำระของงวดวันที่ 10 กรกฎาคม 2548 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2548 รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดเป็นของกลาง ต่อมาวันที่ 18 กรกฎาคม 2548 โจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่างวดตาม การที่จำเลยที่ 1 มิได้ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดที่ 16 ประจำวันที่ 10 สิงหาคม 2548 เป็นต้นมา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ การที่โจทก์บรรยายฟ้องตั้งสภาพแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อสามงวดติดต่อกัน และอาศัยเป็นเหตุในการเลิกสัญญาและเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อหรือใช้ราคาและเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์ต่อมา ทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายบอกเลิกสัญญาและแจ้งให้จำเลยที่ 1 ยุติการชำระค่าเช่าซื้อเอง อันเป็นข้อเท็จจริงที่แตกต่างจากที่โจทก์บรรยายฟ้อง ทั้งโจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไม่ดำเนินการยื่นคำร้องคัดค้านคำร้องขอริบรถยนต์ที่เช่าซื้อจนเป็นเหตุให้รถยนต์ที่เช่าซื้อถูกริบถือว่าเป็นความผิดของโจทก์ การฟ้องคดีของโจทก์ดังกล่าวจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้สิทธิไม่สุจริต ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share