แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารมิได้กำหนดให้เงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควร รวมทั้งความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารได้สิ้นสุดลงหรือภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาด้วย เงินตามสัญญาค้ำประกันมิใช่เบี้ยปรับตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 โจทก์มีสิทธิริบเงินตามสัญญาค้ำประกันได้ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคาร โจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 3 ไม่ชำระถือว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528 แม้ภายหลังโจทก์จะมีหนังสือทวงถามซ้ำอีก โดยกำหนดวันที่นำเงินมาชำระใหม่อีกก็ตามก็ไม่ทำให้การผิดนัดของจำเลยที่ 3 ที่เกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไปโจทก์มีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 3 ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์ได้ทำสัญญาจ้างจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการช่างวิทยุและโทรคมนาคม 1 หลัง ของวิทยาเขตพระนครเหนือราคา 5,480,000 บาทถ้าจำเลยที่ 1 มิได้เริ่มทำงานภายในกำหนดหรือในการทำงานไปนั้นมีเหตุให้โจทก์เชื่อว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถทำงานให้แล้วเสร็จภายในกำหนด หรือจำเลยที่ 1 ทำผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและมีอำนาจจ้างผู้อื่นทำงานรายนี้ต่อไปจนแล้วเสร็จ โดยโจทก์มีสิทธิเรียกค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นเพราะได้จ้างผู้รับจ้างคนใหม่จากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์เป็นเงิน 274,000 บาท หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือปฏิบัติผิดเงื่อนไขในสัญญาที่ทำไว้กับโจทก์ ซึ่งโจทก์มีสิทธิริบหลักประกันหรือเรียกค่าปรับ หรือค่าเสียหายใด ๆ จากจำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 3 ยอมชำระเงินแทนให้ทันทีโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระก่อน ต่อมาจำเลยที่ 1ปฏิบัติผิดสัญญาละทิ้งงาน โจทก์จึงได้มีหนังสือบอกเลิกสัญญาจ้างกับจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาจ้างบริษัท วิจิตรชัยธนบุรีก่อสร้างและเคหะภัณฑ์ จำกัด ทำการก่อสร้างอาคารเรียนและห้องปฏิบัติการช่างวิทยุและโทรคมนาคมดังกล่าวต่อในราคา 5,890,000 บาท เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2528 โจทก์มีหนังสือทวงถามให้จำเลยที่ 3 นำส่งเงินค้ำประกันให้โจทก์ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2529 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยทั้งสามให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จ่ายค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ให้จำเลยที่ 3 นำส่งเงินค้ำประกันแก่โจทก์ภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระจึงต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2ต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2529 จำเลยที่ 3 ต้องชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528 ขอให้จำเลยที่ 1และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 424,406.16 บาท พร้อมดอกเบี้ย จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 298,209.59 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา หากโจทก์มีสิทธิคิดเอาค่าจ้างส่วนเพิ่มก็คิดได้เฉพาะที่เหลือจากการนำเงินประกันจำนวน 274,000 บาทมาหักออกแล้วเท่านั้น โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากวันฟ้องเท่านั้น
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดสัญญา จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงแล้วเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้แล้วให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,000 บาท ให้แก่โจทก์ เงินจำนวนนี้ให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดชำระให้โจทก์จำนวน 274,000 บาทและให้เสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 รับผิดจากต้นเงิน 410,000 บาท จำเลยที่ 3 รับผิดจากต้นเงิน 274,000 บาททั้งนี้นับแต่วันพิพากษาเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 410,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นต้นไป แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 14,406.16 บาท และให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ได้จ้างจำเลยที่ 1 ทำการก่อสร้างอาคารตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 โดยจำเลยที่ 3 ได้ทำหนังสือค้ำประกันการปฏิบัติตามสัญญาของจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์เป็นเงิน 274,000 บาท ตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญา โจทก์ได้บอกเลิกสัญญาและได้มีหนังสือให้จำเลยที่ 3 นำเงินค้ำประกันจำนวน 274,000 บาทมาชำระให้โจทก์ 2 ครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2528 กำหนดให้นำมาชำระภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 27มกราคม 2529 กำหนดให้นำมาชำระภายในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2529 ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่าเงินค้ำประกันจำนวน 274,000 บาท เป็นเบี้ยปรับหรือไม่ และจำเลยที่ 3 จะต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528 หรือไม่
พิเคราะห์สัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ข้อ 3 แล้วปรากฏว่าหนังสือค้ำประกันตามภาพถ่ายเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 18 จำเลยที่ 1 นำมามอบให้กับโจทก์เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา และวรรคสองของสัญญาข้อนี้ ให้โจทก์คืนให้เมื่อจำเลยที่ 1 พ้นจากข้อผูกพันตามสัญญาข้อ 6 วรรคหนึ่งแล้ว ซึ่งตามข้อ 6 วรรคหนึ่งของสัญญา โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ตกลงกันไว้ว่า”เมื่องานแล้วเสร็จเรียบร้อยและผู้ว่าจ้างได้รับมอบงานจากผู้รับจ้างหรือจากผู้รับจ้างคนใหม่ ในกรณีผู้รับจ้างผิดสัญญา และผู้ว่าจ้างใช้สิทธิเลิกสัญญาตามข้อ 5 ถ้ามีเหตุชำรุดเสียหายเกิดขึ้นแก่งานจ้างนี้ ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับมอบงาน ฯลฯ ผู้รับจ้างต้องรีบทำการแก้ไขให้เป็นที่เรียบร้อยภายในระยะเวลาที่ผู้ว่าจ้างกำหนด ฯลฯ” แสดงว่าสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารมิได้กำหนดให้เงินตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเป็นประกันการไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรเท่านั้น เพราะยังค้ำประกันรวมไปถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นภายหลังสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคารได้สิ้นสุดลงหรือภายหลังโจทก์บอกเลิกสัญญาด้วย แม้ความเสียหายนั้นจะมิได้เกิดจากการก่อสร้างก็ตาม เงินตามสัญญาค้ำประกัน จึงมิใช่เบี้ยปรับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 379 โจทก์มีสิทธิที่จะริบเงินตามสัญญาค้ำประกันนี้ได้ตามสัญญาว่าจ้างก่อสร้างอาคาร ข้อ 20(1) ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินตามสัญญาค้ำประกันเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน พิพากษาให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินให้โจทก์เพียง 100,000 บาทนั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เมื่อโจทก์มีหนังสือให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2528 จำเลยที่ 3 ไม่ชำระถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ผิดนัดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2528 แล้ว แม้ภายหลังโจทก์จะมีหนังสือทวงถามซ้ำอีก โดยกำหนดวันที่นำเงินมาชำระใหม่อีกก็ตาม ก็ไม่ทำให้การผิดนัดของจำเลยที่ 3ที่เกิดขึ้นแล้วเปลี่ยนแปลงไป โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องให้จำเลยที่ 1ชำระดอกเบี้ยให้โจทก์ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528…”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 274,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2528จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์แต่ดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน24,209.59 บาท นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.