คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5629/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เฉพาะจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์แต่ทำคำแก้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ดังนี้เป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีกลับเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยที่ 1 ต้องทำเป็นคำฟ้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์พร้อมกับนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 จะมาขอในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ ประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 177,074.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 8 ต่อปี ของต้นเงิน 167,176.87 บาท นับแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 2,000 บาท ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 โดยกำหนดค่าทนายความคนละ 1,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ด้วย ให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ กับให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 1,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าคำร้องให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เฉพาะจำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์แต่ทำคำแก้อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ด้วย ซึ่งไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 7 เปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 แพ้คดีกลับเป็นฝ่ายชนะคดี จำเลยที่ 1 ต้องทำเป็นคำฟ้องอุทธรณ์โต้แย้งคัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์พร้อมกับนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษามาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 229 จะขอมาในคำแก้อุทธรณ์หาได้ไม่ เมื่อจำเลยที่ 1 มิได้อุทธรณ์ประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 จึงเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนการที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 3 และที่ 4 เท่านั้น หามีผลให้ความรับผิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเปลี่ยนแปลงไปไม่ คดีสำหรับจำเลยที่ 1 ยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และตามคำร้องที่อ้างว่าจำเลยที่ 1 เพิ่งมาแจ้งแก่ทนายจำเลยที่ 1 ให้ยื่นฎีกาก่อนวันครบกำหนดระยะเวลายื่นฎีกาเพียง 1 วันนั้นเป็นเหตุที่เกิดจากความบกพร่องของจำเลยที่ 1 เอง มิใช่พฤติการณ์พิเศษที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างเพื่อขยายระยะเวลายื่นฎีกาได้ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จะขยายระยะเวลายื่นฎีกาให้แก่จำเลยที่ 1 ตามคำร้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็น.

Share