แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในการขายทอดตลาดทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรายนี้ ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อได้และชำระเงินค่าซื้อทรัพย์แล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีมีหนังสือถึงศาลชั้นต้นขอให้แจ้งเจ้าพนักงานที่ดินจดทะเบียนระงับการจำนองแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2535 ในวันเดียวกันศาลชั้นต้นมีหนังสือถึงเจ้าพนักงานที่ดินให้ดำเนินการตามหนังสือของเจ้าพนักงานบังคับคดี และเจ้าพนักงานที่ดินได้จดทะเบียนระงับการจำนองพร้อมกับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์เรียบร้อยเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2535 แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีได้นำเงินที่ได้จากขายทอดตลาดชำระหนี้ให้โจทก์ก่อนจำเลยยื่นคำร้องคัดค้าน ดังนั้นขณะที่จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านการขายทอดตลาดจึงยังถือไม่ได้ว่าการบังคับคดีได้เสร็จลงแล้ว และเมื่อจำเลยทราบว่าการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะการบังคับคดีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2535 จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2535 ยังอยู่ในระยะเวลาแปดวัน จำเลยมีสิทธิยื่นคำร้องนี้ได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 วรรคสอง
ในการส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลย โจทก์แถลงว่าไม่สามารถสืบหาที่อยู่ของจำเลยในสำเนาทะเบียนบ้านตามที่จำเลยให้ไว้แก่โจทก์ จึงขออนุญาตศาลส่งโดยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์ซึ่งศาลอนุญาตและในการนัดสืบพยานโจทก์ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน จำเลยก็ไม่ได้คัดค้าน ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการขายทอดตลาดให้จำเลยทราบด้วยวิธีประกาศหนังสือพิมพ์จึงชอบด้วยป.วิ.พ.มาตรา 79 แล้ว
ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไม่ให้โจทก์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ ทำการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาด และเมื่อราคาทรัพย์ที่ผู้ซื้อทรัพย์ซื้อได้สูงกว่าราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินพอสมควร ทั้งไม่ปรากฏว่าการบังคับคดีไม่สุจริตอย่างไร การขายทอดตลาดจึงชอบแล้ว