แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนมีประเด็นว่า พินัยกรรมที่ น. ทำขึ้นสมบูรณ์หรือไม่และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน) หรือเป็นของข. (จำเลยในคดีก่อน) ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีก่อนว่าพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยชอบ และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง(โจทก์ในคดีก่อน) คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้สืบสิทธิของ ข. (จำเลยในคดีก่อน) จะกลับมาฟ้องใหม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของภริยาเดิมของ น.ซึ่งเป็นมรดกตกทอดแก่ ข.มารดาของโจทก์ทั้งสามเมื่อ ข.ถึงแก่ความตายทรัพย์พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เพราะประเด็นในคดีก่อนและคดีหลังก็คือทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฟ้องซ้ำ.
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ทั้งสามเป็นบุตรของนางขันเงินสังสนธิ์ นางขันเงินเป็นบุตรของนายหนู นางเอิบ ที่ดิน 2 แปลง และบ้าน 1 หลัง ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้องหมายเลข 3 อันดับที่ 1 ที่ 2และที่ 3 เป็นทรัพย์มรดกของนางเอิบที่ตกทอดแก่นางขันเงินและตกทอดแก่โจทก์ทั้งสามตามลำดับ แต่นายหนูสามีนางเอิบทำพินัยกรรมยกทรัพย์ทั้งสามอันดับให้แก่จำเลยที่ 1 ภริยาอีกคนหนึ่งของนายหนู และจำเลยที่ 2 บุตรจำเลยที่ 1 พินัยกรรมที่นายหนูทำขึ้นไม่มีผลบังคับเกี่ยวกับทรัพย์ทั้งสามอันดับดังกล่าว ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองส่งมอบทรัพย์ทั้งสามอันดับ กับให้ชำระค่าเสียหายจนกว่าส่งมอบทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้ววินิจฉัยว่าเป็นฟ้องซ้ำ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีก่อนมี 2 ประเด็นคือ พินัยกรรมที่นายหนูทำขึ้นนั้นสมบูรณ์หรือไม่ และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง (โจทก์ในคดีก่อน) หรือเป็นของนางขันเงินสังสนธิ์ (จำเลยในคดีก่อน) ศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนว่าพินัยกรรมดังกล่าวทำขึ้นโดยชอบ และทรัพย์พิพาทเป็นของจำเลยทั้งสอง(โจทก์ในคดีก่อน) คดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ทั้งสามในฐานะผู้สืบสิทธิของนางขันเงิน (จำเลยในคดีก่อน) จะกลับมาฟ้องใหม่ว่าทรัพย์พิพาทเป็นของนางเอิบภริยาเดิมของนายหนู ซึ่งเป็นมรดกตกทอดแก่นางขันเงินมารดาของโจทก์ทั้งสาม เมื่อนางขันเงินถึงแก่ความตายทรัพย์พิพาทจึงเป็นมรดกตกทอดแก่โจทก์ทั้งสาม ย่อมเป็นการรื้อร้องฟ้องในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน เพราะประเด็นในคดีก่อนและคดีหลังก็คือทรัพย์พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของใคร ฟ้องโจทก์ทั้งสามจึงเป็นฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 148
พิพากษายืน.