แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตามความในมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายโดยยินยอมชำระหนี้ตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โดยปลอดจำนองลูกหนี้ไม่มีสิทธิตามสัญญาที่จะเรียกร้องต่อผู้คัดค้านที่ 1กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ จะพิจารณาว่าสิทธิตามสัญญาที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เพราะประโยชน์จะพึงได้ในการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 หาตกได้แก่ลูกหนี้ไม่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายรายนี้ได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 1 เข้าครอบครองที่ดินของลูกหนี้นั้นเป็นไปตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายซึ่งมีผลผูกพันลูกหนี้เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินของลูกหนี้ในฐานะผู้ซื้อและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ 1เกี่ยวด้วยที่ดินซึ่งครอบครองนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้นับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือจนถึงวันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเป็นเวลา 17 ปีเศษ ผู้คัดค้านที่ 1 ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากที่ดินที่ยึดถือไว้โดยร้องขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขอให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้ (จำเลย) ไว้เด็ดขาดเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2532
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ 1 คือหนี้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นเงิน 51,154,528.41 บาท โดยให้ได้รับชำระหนี้ตามมาตรา 96(3) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483จากการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 9508 ตำบลบางเมืองอำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เป็นเงิน918,750 บาท เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 ผู้คัดค้านที่ 1ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกับลูกหนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนเมื่อวันที่10 มีนาคม 2520 แต่ลูกหนี้ยังมิได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ต่อมาเมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญา ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1โดยปลอดจำนองและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 918,750 บาท กับค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายต่าง ๆคำสั่งของผู้คัดค้านที่ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะผู้คัดค้านที่ 1มิได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ย่อมหมดสิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ ทั้งผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาเมื่อล่วงพ้นกำหนด 10 ปี สิทธิเรียกร้องจึงขาดอายุความ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 ยอมรับสิทธิตามสัญญาโดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงินเพียง 918,750 บาท และให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยปลอดจำนอง ทั้งที่ที่ดินดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ยึดตามคำขอของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในปี 2533 และประเมินราคาไว้เป็นเงิน 3,450,000 บาทหากนำที่ดินดังกล่าวออกขายทอดตลาดจะเป็นประโยชน์แก่บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายสิทธิตามสัญญาจึงมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้รับ หากผู้คัดค้านที่ 2 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องชำระเงินค่าที่ดินในราคาปัจจุบันเพื่อประโยชน์ผู้ร้องและเจ้าหนี้ทั้งหลายที่ยื่นคำขอรับชำระหนี้ขอให้กลับคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2
ผู้คัดค้านที่ 1 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่าเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 ผู้คัดค้านที่ 1 ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่ 9508 ตำบลบางเมือง อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ กับลูกหนี้ ในราคา 450,000 บาท โดยผู้คัดค้านที่ 1 วางมัดจำเป็นเงิน 250,000 บาท ต่อมาวันที่ 10มีนาคม 2520 ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ 200,000 บาทให้แก่ลูกหนี้ และลูกหนี้ได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยถือว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 แต่ลูกหนี้ยังไม่อาจจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1เพราะที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง ผู้คัดค้านที่ 1 มีสิทธิยึดหน่วงที่ดินดังกล่าวไว้จนกว่าลูกหนี้จะจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองทั้งหมดจึงชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ยกคำร้อง
ผู้คัดค้านที่ 2 ยื่นคำคัดค้านและแก้ไขคำคัดค้านว่าตามทางสอบสวนของผู้คัดค้านที่ 2 ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1ได้ชำระเงินค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนและลูกหนี้ได้มอบการครอบครองที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ลูกหนี้มีหน้าที่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 แต่ลูกหนี้ไม่อาจกระทำได้เพราะไม่สามารถไถ่ถอนจำนองจากผู้ร้อง เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด ผู้คัดค้านที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญา การร้องขอให้ปฏิบัติตามสัญญาไม่ใช่เป็นการยื่นคำขอรับชำระหนี้ จึงไม่ต้องยื่นภายในกำหนดเวลา 2 เดือน นับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด สิทธิเรียกร้องขอให้ลูกหนี้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ขาดอายุความ ทั้งสิทธิดังกล่าวไม่มีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้ การที่ผู้คัดค้านที่ 2 มีคำสั่งให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยปลอดจำนองและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองทั้งหมด จึงชอบด้วยกฎหมาย ผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหายไม่มีอำนาจคัดค้านคำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้คัดค้านทั้งสอง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีล้มละลายพิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีล้มละลายวินิจฉัยว่า
“พิเคราะห์แล้ว ที่ผู้ร้องฎีกาข้อแรกว่า คำสั่งผู้คัดค้านที่ 2 ที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9508ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยปลอดจำนองและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเป็นเงิน 918,750 บาท ไม่ชอบเพราะคดีนี้มีเจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ 8 ราย รวมเป็นเงิน60,000,000 บาทเศษ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับชำระหนี้มีประกันเป็นเงิน 10,000,000 บาทเศษ และหนี้ไม่มีประกันเป็นเงิน43,000,000 บาทเศษ แต่ผู้คัดค้านที่ 2 ให้ผู้คัดค้านที่ 1ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยเพียง 918,750 บาท ประกอบกับทางราชการประเมินราคาที่ดินไว้ 11,500,000 บาท หากมีการขายทอดตลาดที่ดินอันเป็นหลักประกัน นอกจากจะได้รับชำระหนี้มีประกันแล้ว ยังอาจนำไปชำระหนี้ไม่มีประกันอีกด้วย สิทธิตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายจึงมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้รับตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ผู้คัดค้านที่ 2ต้องไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญานั้น เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 2จะไม่ยอมรับสิทธิตามสัญญาที่มีต่อบุคคลอื่นตามความในมาตรา 122แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 นั้น หมายถึงสิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับหาใช่สิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับไม่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ชำระค่าที่ดินให้แก่ลูกหนี้ครบถ้วนตามสัญญา แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เนื่องจากที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้อง เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดผู้คัดค้านที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายโดยยินยอมชำระหนี้ตามสัญญาจำนองพร้อมดอกเบี้ยเพื่อไถ่ถอนจำนอง ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โดยปลอดจำนองลูกหนี้หามีสิทธิตามสัญญาที่จะเรียกร้องต่อผู้คัดค้านที่ 1 กรณีจึงเป็นสิทธิตามสัญญาที่ผู้อื่นจะพึงได้รับ หาใช่สิทธิตามสัญญาที่ลูกหนี้จะพึงได้รับไม่ จึงไม่อยู่ในดุลพินิจของผู้คัดค้านที่ 2ที่จะพิจารณาว่าสิทธิตามสัญญาที่ผู้คัดค้านที่ 1 จะพึงได้รับมีภาระเกินควรกว่าประโยชน์ที่จะพึงได้แก่กองทรัพย์สินของลูกหนี้หรือไม่ เพราะประโยชน์ที่จะพึงได้ในการที่ผู้คัดค้านที่ 1ใช้สิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามสัญญาตกได้แก่ผู้คัดค้านที่ 1หาตกได้แก่ลูกหนี้ไม่ ผู้คัดค้านที่ 2 จึงไม่อาจปฏิเสธไม่ยอมปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายรายนี้ คำสั่งผู้คัดค้านที่ 2ที่ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 9508 ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยปลอดจำนองและให้ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระหนี้จำนองพร้อมดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ จึงชอบแล้ว
ที่ผู้ร้องฎีกาในข้อต่อไปว่า สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่ขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 นั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามสำเนาสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเอกสารหมาย ร.5 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ทำสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายที่ดินกับลูกหนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2519 โดยในวันทำสัญญาผู้คัดค้านที่ 1 วางมัดจำเป็นเงิน 250,000 บาท ต่อมาวันที่ 10 มีนาคม 2520 ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระเงินค่าที่ดินส่วนที่เหลืออีก 200,000 บาท ให้แก่ลูกหนี้ แต่ลูกหนี้ไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เพราะที่ดินติดจำนองไว้แก่ผู้ร้องลูกหนี้จึงได้ส่งมอบที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ครอบครองโดยถือว่าที่ดินเป็นของผู้คัดค้านที่ 1 ลูกหนี้จะดำเนินการไถ่ถอนจำนองและจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 โดยเร็ว เห็นได้ว่าการเข้าครอบครองที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นไปตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายซึ่งมีผลผูกพันลูกหนี้ เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 เป็นผู้ครอบครองที่ดินของลูกหนี้ในฐานะผู้ซื้อและมีหนี้อันเป็นคุณประโยชน์แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เกี่ยวด้วยที่ดินซึ่งครอบครองนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ย่อมมีสิทธิยึดหน่วงที่ดินนั้นไว้จนกว่าลูกหนี้จะได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 241 แม้นับแต่วันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ชำระค่าที่ดินส่วนที่เหลือ คือวันที่ 10 มีนาคม 2520 จนถึงวันที่ผู้คัดค้านที่ 1 ร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายเป็นเวลา 17 ปีเศษ ผู้คัดค้านที่ 1ในฐานะผู้ทรงสิทธิยึดหน่วงก็มีสิทธิบังคับชำระหนี้จากที่ดินที่ยึดถือไว้โดยร้องขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/27 สิทธิเรียกร้องของผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะขอให้ผู้คัดค้านที่ 2 ปฏิบัติตามสัญญาวางมัดจำจะซื้อจะขายจึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของผู้ร้องนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน