คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5605/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์แพ้คดีและต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชยแก่ลูกจ้างโจทก์ตามคำเตือนของพนักงานตรวจแรงงานจำเลยตามคำพิพากษาศาลแรงงานในคดีนี้ แต่โจทก์กลับมาอุทธรณ์เสียเองว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพื่อให้ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้องอันจะมีผลให้โจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามคำพิพากษาศาลแรงงาน จึงเป็นการใช้สิทธิอุทธรณ์โดยไม่สุจริต ไม่ชอบด้วย ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จะอ้างความไม่สุจริตมาอุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกาพิพากษาว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหาได้ไม่
โจทก์ใช้สิทธิอุทธรณ์ในคดีแรงงานโดยไม่สุจริต ปัญหานี้เป็นเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5), 246 ประกอบพ.ร.บ. จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 31ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องข้อนี้ของโจทก์
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47(1) ที่บัญญัติให้นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างในกรณีลูกจ้างทุจริตต่อหน้าที่นั้นตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวมิได้ให้ความหมายคำว่า “ทุจริต”ไว้ และมิได้ใช้คำว่า “โดยทุจริต” ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา 1 (1) กรณีจึงต้องใช้ความหมายความคำว่า “ทุจริต” ตามพจนานุกรม คือ หมายความว่า ความประพฤติชั่ว โกงไม่ซื่อตรง
ส. ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 190 บาทละทิ้งงานไปเป็นเวลา 1 ชั่วโมง แม้ว่านายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างในระยะเวลาที่ส.ละทิ้งงาน แต่ก็เกิดโทษแก่นายจ้างน้อย ยังไม่พอถือว่า ส. มีความประพฤติชั่วโกง ไม่ซื่อตรง จึงไม่เป็นการทุจริตต่อหน้าที่

Share