แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะขายที่ดินคืนจากจำเลยทั้งสองฐานลาภมิควรได้โดยอ้างว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญาจะขายที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะ ส. ร. และจำเลยที่ 2 คบคิดหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไปวางเป็นหลักประกันหนี้เงินกู้แล้วทำสัญญาจะขายที่ดินกับโจทก์ โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญา โจทก์เข้าทำสัญญาทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายเพราะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่พิพากษาว่า สัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงเป็นคำขอให้บังคับเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ขณะทำสัญญา อันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ซึ่งจะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่ง ป.พ.พ. บรรพ 1 ว่าด้วยความสามารถ ดังนั้น คดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
จำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตาม ป.วิ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2555 จำเลยทั้งสองร่วมกันทำสัญญาจะขายที่ดินให้แก่โจทก์ในราคา 5,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์ลงลายมือชื่อในฐานะผู้จะขายและจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อในฐานะพยาน มีข้อตกลงว่าจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต่อเมื่อศาลอนุญาต วันทำสัญญาโจทก์วางเงินมัดจำค่าซื้อที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสอง 3,500,000 บาท และมอบโฉนดที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันต่อมาวันที่ 23 เดือนเดียวกัน จำเลยทั้งสองได้รับเงินค่าจะขายที่ดินเพิ่มอีก 150,000 บาท แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อขอทำนิติกรรมการขายที่ดินให้แก่โจทก์ ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง และต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ยื่นฟ้องโจทก์เพื่อขอเพิกถอนนิติกรรมสัญญาจะขายที่ดินฉบับลงวันที่ 21 มีนาคม 2555 ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์พิพากษาแล้วว่าสัญญาจะขายดังกล่าวเป็นโมฆะ คู่สัญญาต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ดังนั้น โจทก์ต้องคืนโฉนดที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 1 จำเลยทั้งสองก็ต้องคืนเงิน 3,650,000 บาท แก่โจทก์ โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งสองคืนเงินแก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินจำนวน 3,650,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 21 มีนาคม 2555 จนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงิน 3,500,000 บาท และ 150,000 บาท ตามสัญญาจะขายที่ดินตามฟ้องจากโจทก์ เงินจำนวน 3,500,00 บาท ที่ระบุในสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวมีมูลจากการกู้ยืมเงินที่กำหนดดอกเบี้ยไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างโจทก์ผู้ให้กู้กับนายสำเนา นางสำเริง และจำเลยที่ 2 ผู้ให้กู้ โดยนายสำเนานำที่ดินโฉนดเลขที่ 1526 ตำบลสระประดู่ อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เยาว์มอบให้โจทก์ไว้เป็นประกันหนี้ เมื่อยอดเงินกู้และดอกเบี้ยสูงขึ้น นายสำเนา นางสำเริงและจำเลยที่ 2 ได้คบคิดหลอกลวงจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวแก่โจทก์ โดยอ้างว่าหากไม่ขายที่ดินให้โจทก์เพื่อชำระหนี้เงินกู้ของนายสำเนา นางสำเริงและจำเลยที่ 2 ที่ดินของจำเลยที่ 1 และของนายสำเนาจะถูกยึด จำเลยที่ 1 หลงเชื่อจึงทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ โดยไม่ได้รับเงิน ทั้งในสัญญาระบุว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเงิน มิใช่จำเลยที่ 1 สัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวจึงไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ไม่ต้องคืนเงินให้แก่โจทก์ ขณะทำสัญญาโจทก์รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ซึ่งการทำนิติกรรมสัญญาจะขายที่ดินต้องได้รับอนุญาตจากศาลก่อน การที่โจทก์เข้าทำสัญญาเท่ากับเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจโดยรู้ว่าตนไม่มีความผูกพันที่ต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 407 โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกเงินตามสัญญาจะขายคืนในฐานลาภมิควรได้ ฟ้องโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากโจทก์มีสิทธิฟ้องเรียกเงินคืนฐานลาภมิควรได้ นับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 21 มีนาคม 2555 หรือนับแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2555 ซึ่งเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขออนุญาตทำนิติกรรมต่อศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์และศาลยกคำร้อง แต่นำคดีมาฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2557 เกินกว่า 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 419 ในคดีที่ศาลยกคำร้องดังกล่าว โจทก์อุทธรณ์ว่าโจทก์มีสิทธิยึดหน่วงโฉนดที่ดินพิพาทจนกว่าจำเลยที่ 1 จะใช้เงินคืน คดีนี้โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 คืนเงินจำนวนเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องซ้อนกับคดีดังกล่าว นอกจากนี้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาแล้วการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ในคดีนี้ภายหลังจากที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวมีคำพิพากษาจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การ
ในวันนัดสืบพยานโจทก์ ศาลจังหวัดเพชรบูรณ์ เห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลฎีกาวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 11 วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าที่ดินตามสัญญาจะขายที่ดินคืนจากจำเลยทั้งสองฐานลาภมิควรได้โดยอ้างว่าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์มีคำพิพากษาว่าสัญญาจะขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะ ส่วนจำเลยที่ 1 ให้การว่าสัญญาจะขายที่ดินไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 1 เพราะนายสำเนา นางสำเริงและจำเลยที่ 2 คบคิดหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไปวางเป็นประกันหนี้เงินกู้แล้วทำสัญญาจะขายที่ดินกับโจทก์โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้รับเงินตามสัญญา โจทก์เข้าทำสัญญาทั้งที่รู้ว่าไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย เพราะรู้ว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้เยาว์ ดังนี้คำฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยที่ 1 คืนเงินฐานลาภมิควรได้ โดยอ้างผลสืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดเพชรบูรณ์ที่พิพากษาว่าสัญญาจะขายที่ดินเป็นโมฆะ จึงเป็นคำขอให้บังคับเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินของผู้เยาว์ขณะทำสัญญา อันเป็นการฟ้องเกี่ยวกับความสามารถของผู้เยาว์ ซึ่งจะต้องบังคับตามบทบัญญัติมาตรา 21 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 1 ว่าด้วยความสามารถ ดังนั้นคดีนี้จึงเป็นคดีครอบครัวที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 10 (3)
สำหรับจำเลยที่ 2 แม้มิได้เป็นผู้เยาว์ แต่โจทก์ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ร่วมชำระเงินคืนโจทก์ในฐานะลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ถือได้ว่ามูลความแห่งคดีเกี่ยวข้องกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 5 โจทก์จึงมีสิทธิเสนอคำฟ้องในส่วนจำเลยที่ 2 ต่อศาลเยาวชนและครอบครัวได้
วินิจฉัยว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัว
วินิจฉัย ณ วันที่ 3 เดือน พฤศจิกายน พุทธศักราช 2558
วีระพล ตั้งสุวรรณ
(นายวีระพล ตั้งสุวรรณ)
ประธานศาลฎีกา