คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5597/2552

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขับรถยนต์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลก็ยังวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ได้จนกว่าจะได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองทั้งสองนำสืบว่าคดีมีมูลตามข้ออ้างแห่งฟ้อง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 206 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การและนำสืบต่อสู้คดีจึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ หาใช่กรณีที่ศาลจะต้องฟังแต่เฉพาะพยานโจทก์ทั้งสองฝ่ายเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ หากฟังเหตุมิได้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาว่า รถยนต์กระบะที่จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขับเฉี่ยวชนกันทำให้โจทก์ทั้งสองได้รับบาดเจ็บเป็นอันตรายสาหัสและนายพิพัฒน์เสียชีวิตในเวลาต่อมา จำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ไปใช้ในทางการของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 ผู้รับประกันภัยรถยนต์กระบะคันที่จำเลยที่ 1 ขับ ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นมารดาของนายอัครเดช นายจ้างของจำเลยที่ 4 จึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง ขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 475,336 บาท แก่โจทก์ทั้งสอง พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 และที่ 5 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 ชำระค่าเสียหาย 101,082 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 8 กันยายน 2542) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสอง โดยให้จำเลยที่ 4 ชดใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 2,000 บาท นับตั้งแต่วันที่นายพิพัฒน์เสียชีวิต (วันที่ 12 กันยายน 2541) เป็นต้นไปจนครบ 10 ปี สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ทั้งสองได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถานั้น ให้จำเลยที่ 4 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดให้ชดใช้ค่าทนายความแทนโจทก์ทั้งสอง 7,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…กรณีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระค่าเสียหาย 475,336 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเพียง 101,082 บาท เมื่อโจทก์ทั้งสองมิได้ฎีกาเพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นฎีกา ซึ่งไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ฎีกาของโจทก์ทั้งสองในข้อนี้เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 7 จึงเป็นการฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อผู้พิพากษาซึ่งนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้รับรองไว้หรือรับรองในเวลาตรวจฎีกาว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ และประธานศาลอุทธรณ์ภาค 7 ไม่ได้อนุญาตให้ฎีกาเป็นหนังสือ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้มาเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัยให้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองในปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ถือว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่มีประเด็นต่อสู้ตามฟ้อง ศาลต้องพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 แพ้คดีนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ขับรถยนต์ ส่วนจำเลยที่ 2 ในฐานะเจ้าของรถยนต์ และจำเลยที่ 3 ในฐานะผู้รับประกันภัยรถยนต์คันที่จำเลยที่ 1 ขับ แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา ศาลก็ยังวินิจฉัยชี้ขาดให้โจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายชนะคดีไม่ได้จนกว่าจะได้พิจารณาพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าคดีมีมูลตามข้ออ้างแห่งฟ้อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 198 ทวิ วรรคหนึ่ง และมาตรา 206 วรรคหนึ่ง ทั้งเมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3 ได้ให้การและนำสืบต่อสู้คดี จึงเป็นกรณีที่ต้องฟังพยานหลักฐานทั้งสองฝ่ายในประเด็นพิพาทว่า จำเลยที่ 1 ขับรถโดยประมาทตามที่โจทก์ทั้งสองกล่าวอ้างมาในฟ้องหรือไม่ หาใช่กรณีที่ศาลจะต้องฟังแต่เฉพาะพยานโจทก์ทั้งสองฝ่ายเดียวว่า จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายประมาทดังที่โจทก์ทั้งสองฎีกาไม่ และศาลย่อมพิพากษายกฟ้องในส่วนจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ได้ หากฟังว่าเหตุมิได้เกิดเพราะความประมาทของจำเลยที่ 1 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ด้วยนั้น จึงชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ทั้งสองทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share