คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5586/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

แม้จำเลยที่1และที่2เป็นลูกจ้างทดลองงานก็มีฐานะเป็นลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ.2518จำเลยที่1และที่2จึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กล่าวหาว่านายจ้างกระทำการอันไม่เป็นธรรมตามมาตรา123และจำเลยที่3ถึงที่14ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องดังกล่าวของจำเลยที่1และที่2ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นลูกจ้างทดลองงานของโจทก์ ผลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เป็นที่น่าพอใจโจทก์จึงเลิกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 2ยื่นคำร้องกล่าวหาว่าโจทก์เลิกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม ต่อมาจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ร่วมกันออกคำสั่งให้โจทก์รับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่อัตราค่าจ้างเท่าเดิมหรือใช้ค่าเสียหาย ซึ่งไม่ถูกต้อง ขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิเลิกจ้างจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยชอบ และให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 ตามคำสั่งที่ 19/2538
จำเลย ทั้ง สอบ สี่ ขอให้ ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลาง พิพากษายก ฟ้อง
โจทก์ อุทธรณ์ ต่อ ศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งใช้บังคับแก่นายจ้างและลูกจ้างได้บัญญัติไว้ในมาตรา 5 ว่า “ลูกจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงทำงานให้แก่นายจ้างเพื่อรับค่าจ้าง ทั้งนี้โดยไม่มีบทบัญญัติว่าลูกจ้างทดลองงานไม่ให้ถือว่าเป็นลูกจ้างตามความหมายแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว จึงเห็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างทดลองงานมีฐานะเป็นลูกจ้างที่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 14 ในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจวินิจฉัยคำร้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้
พิพากษายืน

Share