แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่ชาวบ้านร่วมชุมนุมและเดินขบวนกันเพราะไม่พอใจที่ทางราชการมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอนาทมในที่อื่น ที่ไม่ใช่ตำบลนาทมโดยมีชาวบ้านร่วมกันกว่า 200 คน ไม่ปรากฏว่ามีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งผิดกฎหมาย ไม่มีผู้ใดมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา การกระทำความผิดมาเกิดขึ้นในภายหลัง ต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่มจะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้เข้าชุมนุมทุกคนไม่ได้ ลำพังแต่จำเลยเป็นผู้ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน 2 กลุ่ม ที่มีคนร้ายบางคนกระทำความผิดก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือพฤติการณ์อันใดที่แสดงการขัดขวางมิให้ ศ. กับพวกนำรถดับเพลิงเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเผาสะพาน ยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้าย ตาม ป.อ. มาตรา 83 กรณีต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีเสรีภาพในการชุมนุมดังกล่าวตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสิบสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 138, 215, 217, 218 (4), 229, 340, 358, 360 ให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 795 บาท แก่เจ้าของ
จำเลยทั้งสิบสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติการตามหน้าที่ให้จำคุกคนละ 4 เดือน ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ให้จำคุกคนละ 4 เดือน รวมให้จำคุกจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 คนละ 8 เดือน ส่วนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ที่ 6 ที่ 8 ที่ 10 ที่ 11 และที่ 12 และข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคหนึ่ง, 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของโจทก์แต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 กระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือไม่ โดยศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคหนึ่ง และมาตรา 215 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 83 เรียงกระทงลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน รวม 2 กระทง จำคุกคนละ 8 เดือน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ฟังข้อเท็จจริงเป็นอย่างเดียวกันยุติว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้านทั้งสองกลุ่ม แต่ไม่ใช่คนร้ายที่ทำให้สะพานห้วยบ่อหลวงและถนนบริเวณใกล้เคียงได้รับความเสียหาย และไม่ใช่คนร้ายที่วางเพลิงเผาอาคารโรงเรียนบ้านนาทม รวมทั้งจำเลยที่ 7 ไม่ใช่คนร้ายที่ปล้นเอาน้ำมันโซล่าของสำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทไป จึงมีข้อที่จะต้องพิจารณาแต่เพียงว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ร่วมกับบุคคลอื่นตามความหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองหรือไม่ และร่วมกับบุคคลอื่นต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานหรือผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่หรือไม่ เห็นว่า การที่จะถือว่าบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปร่วมกระทำความผิดด้วยกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 บุคคลเหล่านั้นจะต้องมีการร่วมกันทั้งการกระทำและมีเจตนาร่วมกันก่อให้เกิดการกระทำความผิดนั้นขึ้น ซึ่งต้องพิจารณาจากพฤติการณ์การกระทำความผิดเป็นกรณีไป เช่นมีเจตนาคบคิดกันตกลงแบ่งหน้าที่กันทำในส่วนที่เป็นสาระสำคัญที่ก่อให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น หรือมีการติดต่อประสานงานในการกระทำความผิดอย่างใกล้ชิด หรือแม้แต่มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจกัน เป็นต้น คดีนี้ปรากฏตามทางนำสืบของโจทก์เองว่า ชาวบ้านร่วมชุมนุมและเดินขบวนกันเพราะไม่พอใจที่ทางราชการมีมติให้จัดตั้งกิ่งอำเภอนาทมในที่อื่นที่ไม่ใช่ตำบลนาทมโดยมีชาวบ้านร่วมกันถึงกว่า 200 คน ไม่ปรากฏว่ากรณีการร่วมกันวางแผนหรือคบคิดกระทำการในสิ่งที่ผิดกฎหมายไม่มีผู้ใดมีอาวุธ จึงต้องถือว่าเป็นการชุมนุมที่เริ่มต้นด้วยความสงบปราศจากอาวุธ อันเป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนโดยชอบที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับให้การรับรองตลอดมา การกระทำความผิดมาเกิดขึ้นในภายหลังซึ่งต้องถือว่าเป็นเจตนาของผู้กระทำความผิดของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม จะถือเอาเป็นเจตนาร่วมของผู้เข้าชุมนุมทุกคนไม่ได้ ข้อเท็จจริงฟังยุติแล้วว่าโจทก์ไม่อาจนำสืบให้ปรากฏว่า คนร้ายที่กระทำความผิดในแต่ละข้อหาที่โจทก์ฟ้องเป็นใคร และทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่อาจชี้ได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีพฤติการณ์การกระทำและมีเจตนาเช่นไรที่ถือว่าได้ร่วมกับคนร้ายเหล่านั้นกระทำความผิดที่เป็นการใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือทำการอย่างหนึ่งอย่างใดในการทำลายสะพานห้วยบ่อหลวงหรือถนนบริเวณใกล้เคียงอันเป็นการก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง หรือมีพฤติการณ์อันใดที่แสดงการขัดขวางมิให้นายศักดากับพวกนำรถดับเพลิงเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุเผาสะพาน ลำพังแต่ที่โจทก์นำสืบได้เพียงว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เป็นผู้ที่ร่วมอยู่ในกลุ่มชาวบ้าน 2 กลุ่ม ที่มีคนร้ายบางคนกระทำความผิดยังไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 เป็นตัวการร่วมกระทำความผิดกับคนร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ได้ มิเช่นนั้นก็ต้องถือว่าชาวบ้านทุกคนใน 2 กลุ่มนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดทั้งหมด เมื่อโจทก์ไม่อาจนำสืบได้ว่า จำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีพฤติการณ์การกระทำและมีเจตนาอย่างไรที่เป็นการร่วมกระทำความผิดกับคนร้าย กรณียังต้องถือว่าจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 มีเสรีภาพในการชุมนุมตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 3 ที่ 5 ที่ 7 และที่ 9 ในความผิดฐานนี้ด้วยจึงต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน